ชื่อวิจัย แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อปลูกฝังค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียง
ด้านความพอประมาณของเด็กปฐมวัย
ชื่อ-นามสกุล นางเรียมใจ คูณสมบัติ
ปีการศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อปลูกฝังค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงด้านความพอประมาณของเด็กปฐมวัย ให้มีคุณภาพตามเกณฑ์ ที่กำหนด 2) เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงด้านความความพอประมาณของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังการจัดประสบการณ์ 3) เพื่อศึกษาพัฒนาการค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียง ด้านความพอประมาณของเด็กปฐมวัย
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยคือ นักเรียนโรงเรียนเทศบาลท่าโขลง ๑ ระดับอนุบาล จำนวน 220 คน กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นอนุบาล 2/4 โรงเรียนเทศบาลท่าโขลง ๑ ได้จากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) จำนวน 34 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ คู่มือการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ แผนการสอนจำนวน 3 หน่วย สื่อเด็กไทยใส่ใจข้าวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของเด็กปฐมวัย บทเพลง ละครหุ่นและแบบสังเกตพฤติกรรมการมีค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงด้านความพอประมาณ ของเด็กปฐมวัย สถิติที่ใช้ในการวิจัยคือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร้อยละ และค่าคะแนนที (t-test dependent)
ผลการวิจัยพบว่า
1) แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อปลูกฝังค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงด้านความพอประมาณของเด็กปฐมวัยมีประสิทธิภาพ 81.99/83.53 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2) การเปรียบเทียบความแตกต่างของค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงด้านความพอประมาณ ของเด็กปฐมวัย มีคะแนนการทดสอบหลังเรียนสูงกว่าคะแนนการสอบก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3) ประสิทธิผลของแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อปลูกฝังค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงด้านความพอประมาณของเด็กปฐมวัย มีค่าเท่ากับ 0.59 ซึ่งหมายความว่า แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อปลูกฝังค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงด้านความพอประมาณของเด็กปฐมวัยนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ผลการเรียนของเด็กปฐมวัยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สูงขึ้นร้อยละ 59
คำสำคัญ : แนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้, ค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงด้านความพอประมาณ