ชื่อเรื่อง รูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดหัวข่วง สังกัดกองศึกษา เทศบาลเมืองแพร่
ผู้วิจัย นางจินตนา ทุ่งเก้า
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
ปีที่ทำวิจัย 2557 - 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดหัวข่วง เทศบาลเมืองแพร่ ซึ่งมีวิธีดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอนดังนี้ 1. ศึกษาองค์ประกอบของรูปแบบโดยการศึกษาเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง สัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 15 คน ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรทางการศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรครูที่สอนภาษาอังกฤษ 2. สร้างรูปแบบด้วยการยกร่างรูปแบบ
สร้างคู่มือการตรวจสอบร่างรูปแบบ และตรวจสอบร่างรูปแบบโดยวิธีการสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 คน ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรทางการศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรครูที่สอนภาษาอังกฤษ พบว่า
รูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดหัวข่วง เทศบาลเมืองแพร่ ประกอบด้วย องค์ประกอบด้านกระบวนการบริหาร ซึ่งมีองค์ประกอบย่อยคือ การวางแผน การนำแผนไปปฏิบัติ การติดตามตรวจสอบประเมินผล การายงานงานผลเพื่อการพัฒนาปรับปรุงแก้ไข ด้านภาระงานมีองค์ประกอบย่อยคือ 1. การพัฒนาหลักสูตร 2. การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ 3. การพัฒนาสื่อและแหล่งเรียนรู้ 4. การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา 5. การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและการมีส่วนร่วม 6. การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน 7. การจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ 8. การวิจัยและพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน 9. การบริการวิชาการ 10. การนิเทศการจัดการศึกษา 11. การวัดผลและประเมินผล 12. การประกันคุณภาพการศึกษา และ 13. การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สถานศึกษา
ด้านเป้าหมาย มีองค์ประกอบย่อยคือ คุณภาพผู้เรียนในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดหัวข่วง เทศบาลเมืองแพร่ ด้านปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขความสำเร็จ มีองค์ประกอบย่อยคือ 1. การสร้างความรู้ความเข้าใจ 2. การสร้างความตระหนักให้เห็นความสำคัญ 3. การส่งเสริมการพัฒนาการมีส่วนร่วมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนเทศบาลวัดหัวข่วง ในการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ
เพื่อการสื่อสาร
การตรวจสอบความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการนำรูปแบบไปใช้โดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็น สอบถามกลุ่มผู้ให้ข้อมูลคือ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง บุคลากรครู และบุคลากรฝ่ายสนับสนุนการสอน จำนวน 200 คน พบว่า มีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการนำรูปแบบไปใช้อยู่ในระดับมาก ในการจัดทำแผน และคู่มือการใช้รูปแบบโดยวิธีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแผนการใช้รูปแบบฯ โครงการ กิจกรรม และเครื่องมือสำหรับใช้ในการวัดและประเมินผล ทดลองใช้และประเมินรูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดหัวข่วง เทศบาลเมืองแพร่ โดยใช้แบบสอบถามศึกษาความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้รูปแบบ จากผู้บริหารเทศบาล ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา บุคลากรครู บุคลากรฝ่ายสนับสนุนการสอน ผู้ปกครองนักเรียน นักเรียน และผู้แทนชุมชน พบว่า มีความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และใช้วิธีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประเมินรูปแบบกับผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบกับการสังเกตพฤติกรรมนักเรียน และวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน เปรียบเทียบคะแนนผลการทดสอบ O-net รายวิชาภาษาอังกฤษ พบว่า รูปแบบการบริหารงานวิชาการเพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดหัวข่วง เทศบาลเมืองแพร่ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสถานศึกษา ส่งผลให้นักเรียนมีพฤติกรรมในการใช้ทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในด้านทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ในชีวิตประจำวันที่ดีขึ้น ส่งผลให้มีผลสัมฤทธิ์
ทางการเรียน และผลการทดสอบ O-net รายวิชาภาษาอังกฤษ ที่สูงขึ้น