ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ
โรงเรียนพรานวิบูลวิทยา จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้ศึกษา นางคุณากร บุญสาลี ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
วิทยฐานะ รองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนพรานวิบูลวิทยา ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
ปีที่พิมพ์ 2558
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ โรงเรียนพรานวิบูลวิทยา จังหวัดศรีสะเกษ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินสภาพแวดล้อม 2) ประเมินปัจจัย 3) ประเมินกระบวนการ และ 4) ประเมินผลผลิตของโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ ทั้งนี้เพื่อนำผลการศึกษามาเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานตามโครงการ โดยทำการศึกษากับประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือ คณะครู นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน และชุมชน จำนวน 1,136 คน ประกอบด้วย ครู 31 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง นักเรียน 545 คน ได้มาโดยกำหนดวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นอย่างเป็นสัดส่วน (Proportionate Stratified Random Sampling) โดยใช้ระดับชั้นเรียนเป็นชั้นของการสุ่มนักเรียน หน่วยการสุ่มใช้การสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ซึ่งกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางสุ่มกลุ่มตัวอย่างอย่างของเคร็จซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan. 1970 : 608) ผู้ปกครองนักเรียน 545 คน ซึ่งเป็นผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง และชุมชนซึ่งเป็นคณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 15 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วยแบบสอบถามและแบบสรุปข้อมูล จำนวน 10 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แบบสอบถามครูหัวหน้ากิจกรรมย่อยทุกกิจกรรมด้านการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมก่อนการดำเนินงานตามโครงการการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ ฉบับที่ 2 แบบสอบถามความคิดเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการเกี่ยวกับความเหมาะสมด้านปัจจัยในการดำเนินการตามโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ ฉบับที่ 3 แบบสอบถามความคิดเห็นของครูที่มีต่อกระบวนการดำเนินโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ ฉบับที่ 4 แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนเกี่ยวกับการนำความรู้ไปใช้ในการเรียนและพัฒนาตนเอง ตามโครงการการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ ฉบับที่ 5 แบบสอบถามความพึงพอใจของครูที่มีต่อโครงการการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ ฉบับที่ 6 แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองและชุมชนที่มีต่อโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ ฉบับที่ 7 แบบสรุปผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ฉบับที่ 8 แบบสรุปผลการสอบวัดความรู้ระดับชาติ O-NET ฉบับที่ 9 แบบสรุปผลการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของนักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 6 ฉบับที่ 10 แบบสรุปผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม มาตรฐานที่ 5 ความรู้และทักษะจำเป็นตาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา บรรยายสรุปในเชิงพรรณนา และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
ผลการประเมิน พบว่า
1. ผลการประเมินประเด็นสภาพแวดล้อมของโครงการ โดยการประเมิน 3 ตัวชี้วัด พบว่า โดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ความต้องการจำเป็นของโครงการ ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ของโครงการ ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด ความเหมาะสมของกิจกรรม ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินประเด็นปัจจัยของโครงการ โดยการประเมิน 1 ตัวชี้วัด พบว่า โดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมาก และทุกรายผ่านเกณฑ์การประเมิน
3. ผลการประเมินประเด็นกระบวนการจัดกิจกรรมของโครงการ โดยการประเมิน 1 ตัวชี้วัด พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินประเด็นผลผลิตของโครงการ โดยการประเมิน 7 ตัวชี้วัด พบว่า โดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายตัวชี้วัด พบว่า ผลการประเมินด้านการนำความรู้ไปใช้ในการเรียนและการพัฒนาตนเองของนักเรียน ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมาก ความพึงพอใจของผู้บริหารและครูผู้สอนต่อโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด ความพึงพอใจของผู้ปกครองและชุมชนในการดำเนินโครงการ ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมาก ผลการสอบวัดความรู้ระดับชาติ O-NET ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับปานกลาง ผลการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมากที่สุด7 ผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ สามด้านความรู้และทักษะจำเป็นตามหลักสูตร ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับปานกลาง
สรุปผลการประเมินโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการพบว่า โดยรวมผ่านเกณฑ์การประเมินและอยู่ในระดับมากที่สุด 3 ประเด็น ระดับมาก 1 ประเด็น และการประเมินทั้ง 4 ประเด็น คือ ประเด็นสภาพแวดล้อมของโครงการ ประเด็นปัจจัยของโครงการ ประเด็นกระบวนการดำเนินโครงการ และประเด็นผลผลิตของโครงการผ่านเกณฑ์การประเมิน และตัวชี้วัดทั้ง 12 ตัวชี้วัด พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกตัวชี้วัด โดยมีผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด 6 ตัวชี้วัด ได้แก่ ความต้องการจำเป็นของโครงการ ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของวัตถุประสงค์ ด้านกระบวนการจัดกิจกรรม ความพึงพอใจของผู้บริหารและครูผู้สอนต่อโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ ความพึงพอใจของผู้ปกครองและชุมชนในการดำเนินโครงการ และผลการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผลการประเมินอยู่ในระดับมาก 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ ความเหมาะสมของกิจกรรม ความเหมาะสมของปัจจัยต่างๆ ความพึงพอใจของนักเรียนต่อโครงการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน และผลการประเมินยู่ในระดับปานกลาง 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ ผลการสอบวัดความรู้ระดับชาติ O-NET ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ด้านความรู้และทักษะจำเป็นตามหลักสูตร