ชื่อเรื่อง รายงานการใช้สื่อประสม ในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนชั้นอนุบาล 2
โรงเรียนรีสอร์ทอนุบาลทุ่งสง เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ชื่อผู้วิจัย นางสาวเนาวรัตน์ กาญจนถึง
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) เพื่อพัฒนาสื่อสำหรับส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม สำหรับเด็กปฐมวัย 2) เพื่อหาประสิทธิภาพของสื่อประสม ชุดส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการ สำหรับเด็กปฐมวัย ตามเกณฑ์มาตรฐาน 75 / 75 3) เพื่อประเมินประสิทธิภาพสื่อประสม ชุดส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการ ก่อน และหลัง การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการ
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ เด็กชายหญิง อายุระหว่าง 4 5 ปี กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนรีสอร์ทอนุบาลทุ่งสง สังกัดเทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครสรีธรรมราช จำนวน 8 ห้องเรียน จำนวน 184 คน ได้ดำเนินการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้เทคนิค การเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ( Purposive
sampling ) มา จำนวน 1 ห้องเรียน ศึกษานักเรียนทุกคนที่อยู่ในห้อง มีนักเรียนที่ทำการศึกษา จำนวน 21 คน ๆ
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย
1. หนังสือเสริมประสบการณ์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ชุดนิทาน จำนวน 24 เล่ม
2. หนังสือเสริมประสบการณ์ คำคล้องจอง ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการ ประกอบท่าทาง จำนวน 1 เล่ม
3. หนังสือเสริมประสบการณ์ เพลงเด็ก ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการประกอบท่าทาง จำนวน 1 เล่ม
4. แผนการจัดประสบการณ์ ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการ โดยใช้นิทาน เป็นฐานข้อมูล จำนวน 1 เล่ม
5. แบบสังเกต / วัดพฤติกรรมคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการ สำหรับประเมินเด็กปฐมวัยฉบับครูและผู้ปกครอง
6. ข้อทดสอบระดับการรับรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการ ของเด็กปฐมวัย
7. แบบประเมินคุณภาพเครื่องมือสำหรับผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย 4 ชุด คือ
7.1 แบบประเมินคุณภาพสื่อผสมทั้งชุด
7.2 แบบประเมินคุณภาพหนังสือนิทาน
7.3 แบบประเมินคุณภาพแบบทดสอบระดับการรับรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม
8 ประการ ของเด็กปฐมวัย (4 -5 ปี)
7.4 แบบประเมินคุณภาพแบบสังเกตพฤติกรรมด้านคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการของ
ครูและผู้ปกครอง
ผลการวิจัยพบว่า
จากการดำเนินการสร้างสื่อประสม ชุดส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการ แล้วนำมาทดลองใช้ประเมินผลประสิทธิภาพของสื่อประสม ดังนี้
1. มีสื่อประสมสำหรับใช้ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการ ของเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ
2. ประสิทธิภาพของสื่อประสม ชุดส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการ ประกอบด้วย หนังสือเสริมประสบการณ์ ประการ ชุดนิทาน รวม 24 เล่ม หนังสือเสริมประสบการณ์คำคล้องจองส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการ ประกอบท่าทาง หนังสือเสริมประสบการณ์ เพลงส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการ ประกอบท่าทาง แผนการจัดประสบการณ์ การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม โดยใช้นิทานเป็นฐานข้อมูล ประเมินโดยผลคะแนนของกิจกรรม และการประเมินระดับการรับรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม จากข้อทดสอบ พบว่า ด้านความขยันและพึ่งตนเอง ด้านการประหยัดและออม ด้านความซื่อสัตย์ ด้านความมีวินัย ด้านความสุภาพ ด้านความสะอาด ด้านความสามัคคี ด้านความมีน้ำใจ มีค่าเท่ากับ 77.00/83.81 , 76.83/80.95 , 77.14/83.81 , 76.83/81.90 76.19/82.86 , 76.35/83.81 , 75.71/84.76 , 76.19/84.76 ตามลำดับ แสดงว่า สื่อประสมมีประสิทธิภาพสูงเพียงพอที่จะนำไปใช้
การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการ สำหรับเด็กปฐมวัย เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ง่าย ดังปรากฏในผลของการประเมินในแบบประเมินคุณธรรม จริยธรรม ก่อนและหลังการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการ ของครู ซึ่งมีผลต่างของการประเมินรายด้าน คือ ด้านความขยันและพึ่งตนเอง มีค่าความก้าวหน้าเท่ากับ 24.45 ด้านการประหยัดและออม มีค่าความก้าวหน้าเท่ากับ 25.00 ด้านความซื่อสัตย์ มีค่าความก้าวหน้าเท่ากับ 22.22 ด้านความมีวินัย มีค่าความก้าวหน้าเท่ากับ 31.75 ด้านความสุภาพ มีค่าความก้าวหน้าเท่ากับ 27.46 ด้านความสะอาด มีค่าความก้าวหน้าเท่ากับ 14.92 ด้านความสามัคคี มีค่าความก้าวหน้าเท่ากับ 6.56 ด้านความมีน้ำใจ มีค่าความก้าวหน้าเท่ากับ 19.02 และผลการสังเกตพฤติกรรมการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ชุดผู้ปกครอง ค่าเฉลี่ยคุณธรรมในแต่ละด้าน ทั้งด้านความขยันและการพึ่งตนเอง ด้านการประหยัดและออม ด้านความซื่อสัตย์ ด้านความมีวินัย ด้านความสุภาพ ด้านความสะอาด ด้านความสามัคคี และ ด้านความมีน้ำใจ อยู่ในระดับมากขึ้นทุกทุกพฤติกรรม จะเห็นได้ว่า การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม 8 ประการ สำหรับเด็กปฐมวัย สามารถทำได้ง่ายกว่าเด็กวัยอื่น เพราะเด็กจะเลียนพฤติกรรมที่เป็นตัวอย่างที่ดี สอดคล้องกับ (ราศี ทองสวัสดิ์ 2540 : 19) ซึ่งสรุปได้ว่าคุณธรรมและจริยธรรม สำหรับเด็กอายุ 3 - 6 ปี เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ง่าย เพียงแต่การกำหนดและจัดกิจกรรมที่สามารถกระตุ้นให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม การกระทำซ้ำ ๆ จะแทรกซึมเป็นนิสัยที่ดีในตัวเด็ก การสอนโดยตรง การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และการจัดกิจกรรมที่เด็กได้เรียนรู้และหล่อหลอมการมีคุณธรรมและจริยธรรม เป็นสิ่งที่ครูหรือแม้แต่ผู้ปกครองควรใส่ใจและคำนึงถึงเสมอในการให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัยและสอดคล้องกับ โคลเบิร์ก (1976 : 12) ได้ชี้ให้เห็นว่า เด็กที่อยู่ในระดับ 1 ซึ่งมีอายุ 2 10 ปี จะยังไม่มีเหตุผลในการทำสิ่งต่าง ๆ โดยเด็กที่ยังไม่สามารถคิดหาเหตุผลที่แท้จริงมาอธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้ เด็กยังยึดติดตนเอง เป็นศูนย์กลางอยู่ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กทั้ง พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู จึงควรจัดกิจกรรมที่กระตุ้นให้เด็กรู้จักคิด และมองเห็นเหตุผลที่เป็นรูปธรรม และให้เหตุผลของการปฏิบัติเพื่อให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง มีอิสระในการคิด สนใจที่จะทำตามโดยการเลียนแบบ ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีทางคุณธรรม จริยธรรม การปฏิบัติตัวในการเป็นรูปแบบที่เหมาะสมในสังคมการรอบรมสั่งสอน ด้วยการให้รางวัลและการลงโทษ พยายามสอนให้เด็ก สามารถใช้สติปัญญาเป็นเครื่องตัดสินสิ่งต่าง ๆ มากกว่าความมีเหตุผล เช่นเดียวกับ แบนดูร่า (1963:12) มีความเห็นตรงกันว่า การเรียนรู้ได้รับอิทธิพลจากบ้านและโรงเรียน โดยเฉพาะการเรียนรู้ทางสังคม ได้รับอิทธิพลจากกลไกลการปรับตัว ซึ่งรับมาจากพ่อแม่ เนื่องจากเด็กวัยนี้ชอบเลียนแบบพ่อแม่มากที่สุด ในการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่เด็กนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรทำตัวเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ปลูกฝังด้วยวิธีการสั่งสอนอย่างเดียว