บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง ผลของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติควบคู่กับการเสริมแรงทาง
สังคม ที่มีต่อทักษะการฟังของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3
โรงเรียนรีสอร์ทอนุบาลทุ่งสง สังกัดเทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) ศึกษาและเปรียบเทียบทักษะการฟังของนักเรียน ชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติควบคู่กับการเสริมแรงทางสังคม 2) ศึกษาและเปรียบเทียบทักษะการฟังของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ไม่ได้รับกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติควบคู่กับการเสริมแรงทางสังคม 3) เปรียบเทียบทักษะการฟังของนักเรียน ชั้นอนุบาลปีที่ 3 ระหว่างกลุ่มที่ได้รับกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติควบคู่กับการเสริมแรงทางสังคมและนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 กลุ่มที่ไม่ได้รับกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาธรรมชาติควบคู่กับการเสริมแรงทางสังคม
กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนรีสอร์ทอนุบาลทุ่งสง จำนวน 2 ห้องเรียน รวม 60 คน ผู้วิจัยสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายเป็นกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 30 คน กลุ่มทดลองใช้เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติควบคู่กับการเสริมแรงทางสังคม กลุ่มควบคุมไม่ได้ใช้เทคนิคใด ๆ เครื่องมือที่ใช้ ในการรวบรวมข้อมูลได้แก่
1) โปรแกรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติควบคู่กับการเสริมแรงทางสังคมที่มีต่อทักษะการฟัง
2) แบบทดสอบทักษะการฟังมีค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบเท่ากับ 0.85
วิเคราะห์ข้อมูลโดยการคำนวณหาค่าเฉลี่ยและความเบี่ยงเบนมาตรฐาน แล้วนำข้อมูลไปวิเคราะห์เปรียบเทียบทักษะการฟังของกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุมโดยใช้ t test แบบไม่เป็นอิสระต่อกัน (Dependent Sample) จากนั้นนำข้อมูลไปวิเคราะห์เปรียบเทียบทักษะการฟังของนักเรียนกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยใช้ t test แบบเป็นอิสระต่อกัน (Independent Sample)
ผลการวิจัยพบว่า
1) นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติควบคู่กับการเสริมแรงทางสังคม มีทักษะการฟังมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2) นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ไม่ได้รับกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติควบคู่กับการเสริมแรงทางสังคมมีทักษะการฟังมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3) นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติควบคู่กับการเสริมแรงทางสังคมมีทักษะการฟังมากกว่านักเรียนที่ไม่ได้รับกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติควบคู่กับการเสริมแรงทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01