ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้
วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้วิจัย นายประเด็จ แสนเมืองแก้ว
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาล 2 วิภัชศึกษา
เทศบาลเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและ ความต้องการสำหรับการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 3) ทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ 4) ประเมินและปรับปรุงรูปแบบ การจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/2 โรงเรียนเทศบาล 2 วิภัชศึกษา เทศบาลเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 32 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ 1 ฉบับ แบบวิเคราะห์เอกสาร 1 ฉบับ แบบสัมภาษณ์ แบบมีโครงสร้าง 1 ฉบับ แผนการจัดการเรียนรู้ 14 แผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบปรนัย 40 ข้อ แบบทดสอบวัดการคิดวิเคราะห์แบบอัตนัย 12 ข้อ และแบบสอบถามความพึงพอใจแบบมาตราส่วนประมาณค่า 20 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าเฉลี่ย ( ) ร้อยละ (%) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที่ (ttest) แบบ dependent และ การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ ที่สอดคล้องกับความต้องการของการจัดการศึกษา ตามแนวคิด ทฤษฎี พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนทั้ง 3 ด้าน คือ การคิดวิเคราะห์ความสำคัญ การคิดวิเคราะห์ความสัมพันธ์ และการคิดวิเคราะห์หลักการ
2. ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ที่มีชื่อเรียกว่า OPAPE Model มีส่วนประกอบได้แก่ ความเป็นมา ทฤษฏีและแนวคิดพื้นฐานที่รองรับ องค์ประกอบ ได้แก่ หลักการ จุดมุ่งหมาย สาระการเรียนรู้ ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผล และการนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ไปใช้ ได้แก่ หลักการตอบสนอง ระบบสังคม และสิ่งสนับสนุน โดยมีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 5 ขั้น ดังนี้ 1) ขั้นปฐมนิเทศ (Orientation : O) 2) ขั้นนำเสนอบทเรียน (presentation of Learning Task : P) 3) ขั้นฝึกการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking : A) 4) ขั้นนำเสนอและอภิปรายผลการคิด (Presentation and Discussion : P) และ 5) ขั้นประเมินผล (Evaluation : E) มีค่าความเหมาะสม/สอดคล้องเฉลี่ย ( ) ตั้งแต่ 4.20 5.00 มีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ตั้งแต่ 0.00 - 0.89 แสดงว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องเป็นที่ยอมรับได้ และมีค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) แบบรายบุคคล (Individual Tryout) เท่ากับ 77.87/78.51 แบบกลุ่มย่อย (Small Group Tryout) เท่ากับ 78.25/80.12 และแบบกลุ่มใหญ่ (Field Tryout) เท่ากับ 80.09/81.49 ซึ่งมีค่าประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ กลุ่มสาระ การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ควบคู่กับแผนการจัดการเรียนรู้ พบว่า ได้ค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 80.81/81.83 ซึ่งมีค่าประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80
4. ผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการประเมินการคิดวิเคราะห์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนโดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด การปรับปรุงแก้ไข ได้ปรับปรุงรูปแบบการฝึกคิดวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ ปรับแผนการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้มากขึ้น