ชื่อเรื่อง การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นแบบบูรณาการกลุ่มสาระ
เรื่อง หนูน้อยสืบสานการนวดแผนไทย
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้รายงาน นางกัญจ์ญาณัฐ วรินทร์หิรัญ
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีการศึกษา 2556
บทคัดย่อ
หลักสูตรท้องถิ่นได้รับการพัฒนาขึ้นตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แต่ในส่วนของการปฏิบัตินั้นยังทำได้น้อย โดยเฉพาะ การนวดแผนไทยเป็นภูมิปัญญาไทยที่มีคุณค่ากำลังจะสูญหายไป ซึ่งชุมชนต้องการให้ฟื้นกลับขึ้นมาอีก การวิจัยนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นแบบบูรณาการ เรื่อง หนูน้อยสืบสานการนวดแผนไทย ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยใช้หลักสูตรท้องถิ่นแบบบูรณาการเรื่อง หนูน้อย สืบสานการนวดแผนไทย กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี และ3) ศึกษาความพึงพอใจของผู้เรียนต่อการเรียนหลักสูตรท้องถิ่นแบบบูรณาการ เรื่อง หนูน้อยสืบสานการนวดแผนไทย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ มีจำนวน 80 คน แยกเป็น 5 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มผู้ให้ข้อมูลการสำรวจความต้องการและความคิดเห็นในการพัฒนาหลักสูตร จากโรงเรียนบ้านบ้านป่าตะแบง จำนวน 38 คน ประกอบด้วย ผู้ปกครองนักเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 20 คน ครูผู้สอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 8 คน และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 10 คน ได้มาโดยเลือกแบบเจาะจง (2) กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิในการพัฒนาหลักสูตร จำนวน 26 คน ประกอบด้วย ศึกษานิเทศก์ จำนวน 1 คน ครูโรงเรียนบ้านป่าตะแบง จำนวน 8 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 5 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 7 คน และปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการนวดแผนไทย จำนวน 5 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (3) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญในการประเมินหลักสูตร จำนวน 5 คน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย ด้านการพัฒนาหลักสูตร และด้านการนวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง และ(4) กลุ่มนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการทดลองใช้หลักสูตร คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนบ้านป่าตะแบง จำนวน 11 คน ได้มาโดยการอาสาสมัคร เครื่องมือใช้ในการวิจัย คือ (1) แบบสอบถามความต้องการพัฒนาหลักสูตร (2) หลักสูตรท้องถิ่นแบบบูรณาการ เรื่อง หนูน้อยสืบสานการนวดแผนไทย (4) แบบสังเกตพฤติกรรมระหว่างเรียน (5) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (6) แบบประเมินหลักสูตร (7) แบบสังเกตการณ์การฝึกปฏิบัติ และ (8) แบบสอบถามความพึงพอใจ สถิติที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบที (t-test)
ผลการวิจัย พบว่า (1) หลักสูตรท้องถิ่นแบบบูรณาการ เรื่อง หนูน้อยสืบสานการนวดแผนไทย ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย 5 หน่วยการเรียนรู้ 15 แผนการจัดการเรียนรู้ ใช้เวลาเรียน 47 ชั่วโมง ได้รับการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า หลักสูตรมีค่าความสอดคล้องขององค์ประกอบของหลักสูตรทั้งฉบับ อยู่ในระดับมากที่สุด (x- =4.72, S.D.=.08) และหลักสูตรมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ( x-=4.71, S.D.=.04) ทุกด้าน (2) หลักสูตรท้องถิ่นแบบบูรณาการ เรื่อง หนูน้อยสืบสานการนวดแผนไทย ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.68/85.15 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้ และ (3) ผู้เรียนมีความ พึงพอใจในหลักสูตรท้องถิ่นแบบบูรณาการ เรื่อง หนูน้อยสืบสานการนวดแผนไทย อยู่ในระดับมากที่สุด
จากการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้หลักสูตรท้องถิ่นมีการบูรณาการข้ามกลุ่มสาระและสอดคล้องกับบริบทของภูมิปัญญาท้องถิ่น ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร เมื่อผู้เรียนเรียนจบหลักสูตรท้องถิ่นแบบบูรณาการ สามารถสืบทอดภูมิปัญญาด้านการนวดแผนไทยได้อย่างเหมาะสม