บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง โจทย์ปัญหาร้อยละ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ ให้นักเรียนร้อยละ 80 ของนักเรียนทั้งหมดมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป
กลุ่มเป้าหมาย เป็นนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านโนนตะโก อำเภอพล สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่นเขต 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 มีจำนวน 3 คน การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวงจรปฏิบัติ 3 วงจร เครื่องมือที่ใช้ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) เครื่องมือที่ใช้ดำเนินการทดลองปฏิบัติการ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง โจทย์ปัญหาร้อยละ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จำนวน 15 แผน เวลา 15 ชั่วโมง 2) เครื่องมือที่ใช้สะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู แบบสัมภาษณ์นักเรียน แบบทดสอบท้ายวงจร และ 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่องโจทย์ปัญหาร้อยละ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้เก็บรวมรวมข้อมูลจากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน การสัมภาษณ์ และสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ ผู้ช่วยวิจัยเก็บข้อมูล จากการสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครู พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน การสัมภาษณ์นักเรียน และสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ ด้วยเครื่องมือที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ผลการปฏิบัติเมื่อสิ้นสุดในแต่ละวงจร นักเรียนจะทำแบบทดสอบท้ายวงจรเพื่อนำผลที่ได้มาวิเคราะห์และอภิปรายเพื่อปรับปรุงกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละวงจรให้มีประสิทธิภาพ เมื่อสิ้นสุดการวิจัยนักเรียนทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และตอบแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสรุปเป็นความเรียง
ผลการวิจัย พบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่องโจทย์ปัญหาร้อยละ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 4 ขั้นตอน ดังนี้
1) ขั้นนำ เป็นขั้นทบทวนความรู้เดิมก่อนจะสอนมโนมติใหม่ ช่วยให้นักเรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมเข้าด้วยกัน และเตรียมความพร้อมเพื่อให้นักเรียนทราบถึงเป้าหมายของการเรียนในแต่ละชั่วโมงโดยใช้เพลง และคำถามแบบต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นต้น
2) ขั้นสอน เป็นขั้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนได้คิดและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ประกอบด้วยขั้นตอนย่อยดังต่อไปนี้
(1) เผชิญปัญหาเป็นรายคน เป็นขั้นที่ครูเสนอสถานการณ์โจทย์ปัญหาที่เกิดในชีวิตประจำวัน แล้วใช้คำถามแบบต่อเนื่องกระตุ้นให้นักเรียนได้คิด และตอบคำถาม เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ โจทย์ปัญหานั้น โดยครูใช้เทคนิคการถามแบบต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้คิด
(2) ขั้นไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย นักเรียนช่วยกันหาแนวทางแก้ปัญหาที่หลากหลาย นักเรียนทั้งชั้นจะได้อภิปรายร่วมกันและพิจารณาหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่หลากหลาย และลงมือปฏิบัติตามแนวทางที่เลือก นักเรียนจะได้แสดงออกถึงแนวความคิดของตนเองว่าเป็นไปได้และมีความเหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหา
(3) ขั้นไตร่ตรองระดับชั้นเรียน นักเรียนและครูตรวจสอบความถูกต้อง โดยพิจารณาว่าคำตอบที่ได้สมเหตุสมผลหรือไม่
3) ขั้นสรุป ครูและนักเรียนสรุปได้จากการวิเคราะห์และอภิปรายหลักการต่าง ๆ แล้วนำความรู้ที่ได้รวบรวมเป็นสาระที่ครบถ้วน บันทึกลงในแบบบันทึกงาน Mind Mapping ครูตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา และแนะนำเพิ่มเติมในสิ่งที่พบในการทำกิจกรรมของนักเรียน
4) ขั้นฝึกทักษะ เป็นขั้นตอนที่นักเรียนจะได้ฝึกทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ทักษะการทำงาน โดยนักเรียนจะช่วยเพื่อนที่เรียนอ่อนในการสร้างความเข้าใจเนื้อหาบทเรียน และทำแบบฝึกทักษะในแผนการจัดการเรียนรู้แต่ละแผนเพื่อให้ผู้เรียนได้จัดระเบียบความรู้ของตนเองทำให้เกิดความคงทนในการเรียนรู้ หลังสิ้นสุดการปฏิบัติกิจกรรมแต่ละวงจรครูให้นักเรียนทำแบบทดสอบท้ายวงจร
2. นักเรียนร้อยละ 100 ของนักเรียนทั้งหมด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 ขึ้นไป ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการวิจัยที่ตั้งไว้
3. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ โดยรวมในระดับ มากที่สุด ( = 3.85)