รายงานการพัฒนารูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่มีประสิทธิผลโดยใช้วงจรคุณภาพของโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา
โดย
ชาติ เงินจังหรีด
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
วิทยฐานะรองผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
สำนักการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่มีประสิทธิผลโดยใช้วงจร
คุณภาพของโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา
ผู้วิจัย นายชาติ เงินจังหรีด
ปีที่ศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา 2) สร้างรูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่มีประสิทธิผลโดยใช้วงจรคุณภาพของโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา 3) ทดลองใช้รูปแบบและประเมินรูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่มีประสิทธิผลโดยใช้วงจรคุณภาพของโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา และ 4) ปรับปรุงรูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่มีประสิทธิผลโดยใช้วงจรคุณภาพของโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนารูปแบบและประเมินรูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่มีประสิทธิผลโดยใช้วงจรคุณภาพของโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา โดยมีขั้นตอนดำเนินการวิจัย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหาการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ขั้นตอนที่ 2 สร้างรูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้รูปแบบและประเมินรูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และขั้นตอนที่ 4 ปรับปรุงรูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาในขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ ผู้บริหารและครูในโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 15 คน ขั้นตอนที่ 2 กลุ่มที่ 1 ได้แก่ ผู้บริหาร หัวหน้าฝ่ายวิชาการและครูผู้รับผิดชอบด้านงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนที่มีวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศและประสบความสำเร็จในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา จำนวน 4 โรงเรียน รวม 16 คน กลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา จำนวน 10 คน กลุ่มที่ 3 ได้แก่ ผู้บริหาร และครูผู้รับผิดชอบด้านงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนที่มีวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศและประสบความสำเร็จในการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา จำนวน 4 โรงเรียน ๆ ละ 3 คน รวม 12 คน ขั้นตอนที่ 3 ได้แก่ ผู้บริหาร และครูในโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 32 คน การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้การศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์ การตอบแบบสอบถาม การสังเกต และการสนทนากลุ่ม การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติบรรยาย การวิเคราะห์เชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพปัจจุบันของการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา พบว่า สถานศึกษามีการดำเนินงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อพิจารณาการดำเนินงานเป็นรายด้านพบว่า การจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาการกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา การดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษา การประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องมีการดำเนินงานอยู่ในระดับมาก ส่วนการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา การจัดระบบบริหารและสารสนเทศภายในสถานศึกษา และการจัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานประเมินคุณภาพภายในมีการดำเนินงานอยู่ในระดับปานกลาง และ สภาพปัญหาการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา ทั้ง 8 ด้าน พบว่า ผู้บริหาร ครู และบุคลากรในสถานศึกษาขาดความรู้
ความเข้าใจในกระบวนการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและไม่ให้ความสำคัญ ทำให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาไม่สอดคล้องกับผู้เรียนและท้องถิ่น ขาดการนำมาตรฐานที่กำหนดไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ขาดการประชาพิจารณ์ ประเมินความต้องการและความคิดเห็นของบุคลากรและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง การจัดระบบข้อมูลไม่ชัดเจน ไม่เป็นหมวดหมู่ ไม่เป็นปัจจุบัน และไม่มีการนำข้อมูล/สารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างชัดเจนเท่าที่ควร เครื่องมือในการดำเนินการไม่หลากหลาย ขาดรูปแบบและแนวทางที่ดีในการดำเนินงาน
2. รูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่มีประสิทธิผลโดยใช้วงจรคุณภาพของโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา ได้พัฒนาโดยยึดตามแนวทางระบบการประกันคุณภาพภายในที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ประกอบด้วยองค์ประกอบทั้ง 8 ด้าน โดยผนวกแนวคิดของกระบวนการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องตามวงจรคุณภาพ PDCA ซึ่งประกอบด้วยขั้นการวางแผน (Plan) การปฏิบัติตามแผนหรือขั้นตอนที่วางไว้ (Do) การตรวจสอบหรือการประเมิน (Check) และการนำผลการประเมินย้อนกลับไปทบทวน ปรับปรุงแก้ไข (Act) เข้าไปในองค์ประกอบทุกด้าน โดยโครงสร้างหลักของร่างรูปแบบที่พัฒนาขึ้นผู้วิจัยจำแนกองค์ประกอบทั้ง 8 ด้านออกเป็น 4 ขั้นตอนตามวงจรคุณภาพ PDCA ได้แก่ ขั้นการวางแผนประกอบด้วย องค์ประกอบด้านที่ 1 การกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา องค์ประกอบด้านที่ 2 การจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา และองค์ประกอบด้านที่ 3 การจัดระบบบริหารและสารสนเทศภายในสถานศึกษา ขั้นการดำเนินงานประกอบด้วย องค์ประกอบด้านที่ 4 การดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษา ขั้นการติดตามตรวจสอบประกอบด้วย องค์ประกอบด้านที่ 5 การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา และองค์ประกอบด้านที่ 6 การประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษา ขั้นการทบทวน ปรับปรุงแก้ไขประกอบด้วย องค์ประกอบด้านที่ 7 การจัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานประเมินคุณภาพภายใน และองค์ประกอบด้านที่ 8 การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
3. ผลการตรวจสอบร่างรูปแบบที่พัฒนาขึ้นโดยใช้กระบวนการสนทนากลุ่มของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโครงสร้างกรอบแนวคิดของรูปแบบ ผลจากการสนทนากลุ่มพบว่า ผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยกับกรอบแนวคิดของรูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่มีประสิทธิผลโดยใช้วงจรคุณภาพของโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา และผลการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของรูปแบบ พบว่า 1) ส่วนบทนำของรูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่มีประสิทธิผลโดยใช้วงจรคุณภาพของโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา มีค่าเฉลี่ยโดยรวมของความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยโดยรวมของความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก 2) ผลการประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของรูปแบบ มีค่าเฉลี่ยโดยรวมของความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยโดยรวมของความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินรูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่มีประสิทธิผลโดยใช้วงจรคุณภาพของโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา หลังการทดลองใช้พบว่า ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความเป็นประโยชน์ของรูปแบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่มีประสิทธิผลโดยใช้วงจรคุณภาพของโรงเรียนลำพระเพลิงพิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา โดยเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน