ชื่อเรื่อง การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎี
คอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง การคูณ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง
ชื่อผู้ศึกษา นางพัณต์ณิตา ทองมี ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
ปีที่พิมพ์ 2557
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้
คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง การคูณ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล
วัดกลาง 2) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง ให้มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ75 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ 75 ขึ้นไป กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/3 โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 32 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) รูปแบบการศึกษาเป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการ (Action Research) มีวงจรการปฏิบัติการ 4 วงจร คือ วงจรที่ 1 แผนการจัดการเรียนรู้ที่
15 วงจรที่ 2 แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 610 วงจรที่ 3 แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1113 วงจรที่ 4 แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 1417 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติจริง ได้แก่แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง การคูณ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 17 แผน แต่ละแผนใช้เวลาทำการสอน 1 ชั่วโมง 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบบันทึกผลการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียน (ด้านทักษะ/กระบวนการ) และ (ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์) แบบสัมภาษณ์นักเรียนเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนรู้ แบบฝึกทักษะท้ายแผน จำนวน 17 ชุด แบบทดสอบท้ายวงจร มี 4 ชุด แต่ละชุดมีจำนวน 20 ข้อ ผลงานนักเรียน 3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง การคูณ เป็นแบบทดสอบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้ศึกษาได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากทุกแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยเครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ เมื่อสิ้นสุดแต่ละวงจรให้นักเรียนทำแบบทดสอบท้ายวงจรและทำการสะท้อนผลการปฏิบัติ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ อภิปราย เพื่อปรับปรุงกิจกรรมการเรียนรู้แต่ละวงจรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและปรับใช้ในวงจรต่อไป การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติพื้นฐานคือ ค่าเฉลี่ย (x̄) ร้อยละ และสรุปความเรียง
ผลการศึกษา พบว่า
1. พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัค
ติวิสต์ เรื่อง การคูณ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาลวัดกลาง เป็นการจัดกิจกรรมที่มุ่งให้นักเรียนได้สร้างความรู้ด้วยตนเองจากสถานการณ์ปัญหาที่สร้างขึ้นให้สอดคล้องกับความสนใจและประสบการณ์ของนักเรียนเพื่อให้เกิดความรอบรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมโนมติในเรื่องที่เรียน รวมทั้งการพัฒนาทักษะ/กระบวนการทางคณิตศาสตร์ โดยการให้นักเรียนได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเองด้วยวิธีการที่หลากหลาย นักเรียนได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนี้ คือ 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะได้ทบทวนความรู้เดิม โดยการเล่นเกม เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจในการเรียน 2) ขั้นสอน 2.1) ขั้นสร้างความขัดแย้ง
ทางปัญญา จากการเสนอสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ทำให้นักเรียนเกิดความขัดแย้งทางปัญญา ทำให้เกิดความสนใจและมีแรงจูงใจอยากรู้อยากเห็นเพื่อที่จะขจัดความขัดแย้ง 2.2) ขั้นกิจกรรมไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย นักเรียนได้พุดคุย ซักถาม อภิปราย โต้แย้ง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเหล่านั้นในเวลาเรียน ทำให้ครูได้ทราบว่านักเรียนคิดอะไรอยู่และแก้ปัญหาอย่างไร และการที่นักเรียนได้พูดคุยถึงเหตุผลในการเลือกวิธีการแก้ปัญหาของตนเองให้สมาชิกในกลุ่มได้สนทนาซักถาม อีกทั้งภาษาที่อยู่ในวัยเดียวกันทำให้นักเรียนสามารถเข้าใจวิธีการแก้ปัญหาได้ชัดเจนและรวดเร็วขึ้น 2.3) ขั้นกิจกรรมไตร่ตรองระดับชั้น นักเรียนที่เป็นตัวแทนกลุ่ม สามารถนำเสนอผลงานของกลุ่มได้ แสดงให้เห็นว่า นักเรียนในกลุ่มได้มีการช่วยเหลือกันในการทำให้สมาชิกในกลุ่มทุกคนมีความเข้าใจในวิธีดำเนินการแก้ปัญหาที่กลุ่มได้ร่วมกันสร้างขึ้น นอกจากนั้นครูจะใช้คำถามกระตุ้นให้นักเรียนหาวิธีการแก้ปัญหาเพิ่มเติม นักเรียนพยายามค้นหาวิธีการใหม่ที่แตกต่างจากวิธีการเดิม 3) ขั้นสรุปผลการสร้างโครงสร้างใหม่ทางปัญญา เป็นขั้นที่ช่วยให้นักเรียนได้สรุปแนวคิดหลักการ มโนมติของเนื้อหาสาระการเรียนรู้ ขั้นตอนและแนวทางแก้ปัญหา นักเรียนจะสรุปตามที่นักเรียนเข้าใจ ถึงแม้ว่าการใช้ภาษาของนักเรียนยังไม่ชัดเจนไม่ครอบคลุมไม่เป็นระบบเท่าที่ควร ครูต้องใช้คำถามนำเพื่อช่วยให้นักเรียนสรุปได้และเพื่อให้เกิดความคิดที่เป็นระบบยิ่งขึ้น นักเรียนสามารถสรุปแนวคิดหลักการมโนมติของเนื้อหาสาระการเรียนรู้ ได้ด้วยตนเอง และนำหลักการนั้นไปใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ได้ 4) ขั้นฝึกทักษะ ให้นักเรียนทำแบบฝึกทักษะท้ายแผน ในการแก้ปัญหา พบว่า นักเรียนสามารถนำความรู้หรือหลักการมโนมติของเนื้อหาสาระที่เรียนไปใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ และสามารถอธิบายการได้มาซึ่งคำตอบได้ถูกต้องด้วยตนเอง เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เฉลี่ยร้อยละ 81.80 และมีจำนวนนักเรียนที่ผ่าน
เกณฑ์ดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 90.63 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 75 ขึ้นไป