ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 1
บ้านสะเดา ตามหลักค่านิยม 12 ประการของคนไทย กองการศึกษา
เทศบาลเมืองสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
ผู้ประเมิน นางปรียา นวลหอม
ปีที่ศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 1 บ้านสะเดา ตามหลักค่านิยม 12 ประการของคนไทย กองการศึกษา เทศบาลเมืองสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ได้ประยุกต์ด้วยการใช้แนวคิดซิปป์โมเดล มาเป็นแนวทางในการประเมิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินความเหมาะสมบริบทที่เกี่ยวข้องกับโครงการ 2) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าที่จะนำมาใช้ในการดำเนินงานตามโครงการ 3) เพื่อประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการดำเนินงานตามโครงการ 4) เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการเกี่ยวกับพฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียน จำนวน 12 ประการ ได้แก่ ความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ ความมีเหตุผล ความกตัญญูกตเวที ความมีวินัย ความเสียสละ ความสามัคคี ความพอเพียง ความมั่นใจในตนเอง ความขยันหมั่นเพียร และความเมตตากรุณา กลุ่มตัวอย่างในการประเมินได้มาโดยการสุ่มแบบชั้นภูมิ ได้แก่ ผู้บริหาร จำนวน 3 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 14 คน ครู จำนวน 52 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4–6 จำนวน 210 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 277 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการดำเนินงาน และผลสัมฤทธิ์ของโครงการ โดยมีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และความเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินพบว่าผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ความสอดคล้องของโครงการกับนโยบายของสถานศึกษา มีค่าเฉลี่ยระดับมาก สูงที่สุด น้อยที่สุด คือ โครงการมีความสอดคล้องกับสภาพของชุมชน
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า คณะกรรมการโครงการเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเหมาะสม กับโครงการที่ได้รับมอบหมาย มีค่าเฉลี่ยระดับมากสูงที่สุด น้อยที่สุด คือ มีบุคลากรจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมมือสนับสนุน และการจัดสรรงบประมาณในแต่ละโครงการมีความเหมาะสม
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากผ่านเกณฑ์ การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ความร่วมมือของคณะทำงานตามโครงการ มีค่าเฉลี่ยระดับมากสูงที่สุด น้อยที่สุด คือ การนิเทศ ติดตามระหว่างการปฏิบัติงาน และนำผลการประเมิน มาปรับปรุงการปฏิบัติงาน
4. ผลการประเมินด้านผลสัมฤทธิ์ของโครงการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีค่าเฉลี่ย ระดับมากสูงที่สุด น้อยที่สุด คือ ความสามัคคี และนักเรียนประเมินด้านผลสัมฤทธิ์ของโครงการ มีค่าเฉลี่ยในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีค่าเฉลี่ยระดับมากสูงที่สุด น้อยที่สุด คือ ความซื่อสัตย์สุจริต