ชื่อเรื่อง รายงานผลการพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนตัวสะกดที่ไม่ตรงมาตรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านห้วยไผ่ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่
ผู้ศึกษา นางศิริพร เตชะพงศ์
ปีที่ศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนตัวสะกดที่ไม่ตรงมาตรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนและหลังการเรียน ด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนตัวสะกดที่ไม่ตรงมาตรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย ที่มีต่อแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนตัวสะกดที่ไม่ตรงมาตรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ประชากรที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนบ้านห้วยไผ่ อำเภอไชยปราการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนตัวสะกดที่ไม่ตรงมาตรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 6 ชุด ชุดละ 10 แบบฝึก แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การอ่านและการเขียนตัวสะกดไม่ตรงมาตรา จำนวน 30 ข้อ และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนตัวสะกดที่ไม่ตรงมาตรา จำนวน 10 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาประสิทธิภาพของแบบฝึกตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการหาค่าความก้าวหน้า ผลการศึกษาพบว่า
1. ประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนตัวสะกดที่ไม่ตรงมาตรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 90.90/89.67 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนตัวสะกดไม่ตรงมาตรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ผู้รายงานสร้างขึ้น มีคะแนนผลสัมฤทธิ์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน โดยมีความก้าวหน้าคิดเป็นร้อยละ 60.83 แสดงให้เห็นว่า แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนตัวสะกดที่ไม่ตรงมาตรา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สามารถพัฒนาการเรียนรู้ให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านห้วยไผ่ ปีการศึกษา 2557 มีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา อยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.87 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.34