บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยใช้รูปแบบการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ เทคนิค STAD เรื่อง เศษส่วน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 2) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์
เรื่องเศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยให้ผู้เรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของผู้เรียนทั้งหมดมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/2 โรงเรียนเทศบาลวัด-เนินสุทธาวาส (สุทธิพงษ์ประชานุกูล) สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลเมืองชลบุรี อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 24 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง
ปฏิบัติการได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ เรื่อง เศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 22 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการสอนของครู แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของผู้เรียน บันทึกผลหลังการใช้แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบสัมภาษณ์ผู้เรียน ใบกิจกรรมและแบบฝึกทักษะ แบบทดสอบท้ายวงจรปฏิบัติการ
3) เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่อง เศษส่วน รูปแบบการวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวงจรปฏิบัติการ 4 วงจร
การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และสรุปความเรียง
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบ
การสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ เทคนิค STAD เรื่องเศษส่วน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งมีขั้นตอนการจัดกิจกรรมดังนี้
1.1 การนำเสนอบทเรียนต่อทั้งชั้น มี 3 ขั้น ได้แก่
1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นนี้ครูจะจัดนักเรียนเข้ากลุ่ม เตรียมความพร้อมของนักเรียน โดยครูจะแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ ทบทวนความรู้เดิมของนักเรียน เพื่อเตรียมความพร้อม และเร้าความสนใจของผู้เรียน ครูจะใช้กิจกรรม เช่น เกม การใช้การถาม ตอบ เพื่อทบทวนความรู้เดิมที่จำเป็นสำหรับเนื้อหาใหม่
2) ขั้นสอน เป็นขั้นที่นักเรียนได้ปฏิบัติกิจกรรม ครูจะใช้เทคนิค
ที่หลากหลาย เพื่อท้าทายให้ผู้เรียนสนใจ และอยากรู้อยากเห็น ครูนำเสนอเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาโดยใช้สื่อที่เป็นรูปธรรมหรือกึ่งรูปธรรมจนผู้เรียนสามารถสรุปมโนมติของเนื้อหาได้ จึงนำเสนอเนื้อหาในรูปประโยคสัญลักษณ์ โดยเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน การฝึกทักษะที่หลากลาย
3) -ขั้นสรุป เป็นการสรุปเนื้อหา กระบวนการคิด กระบวนการ
แก้ปัญหาโดยนักเรียนมีการอภิปราย และเป็นผู้สรุปบทเรียนด้วยตนเอง
1.2 การศึกษากลุ่มย่อย เป็นการพัฒนาทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์
ผู้เรียนจะเข้ากลุ่มทำกิจกรรมร่วมกัน โดยการศึกษาใบความรู้ แล้วหาแนวทางในการแก้ปัญหาโดยผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ การคิด การแก้ปัญหา อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นวิธี
ที่ได้มาซึ่งคำตอบ มีการตรวจทานคำตอบร่วมกันโดยสมาชิกในกลุ่มสามารถอธิบาย ปรึกษาหารือ ช่วยเหลือเกื้อกูลให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มได้เรียนรู้จนมีความเข้าใจ
1.3 การทดสอบย่อย เป็นการประเมินความเข้าใจบทเรียนโดยการให้นักเรียนทำแบบทดสอบท้ายวงจรปฏิบัติการ เป็นรายบุคคล โดยที่ไม่มีการช่วยเหลือกัน
1.4 การคิดคะแนนความก้าวหน้า การคิดคะแนนความก้าวหน้า เป็นการหาผลต่างระหว่างคะแนนฐานกับคะแนนที่ทำแบบทดสอบท้ายวงจร แล้วนำไปเทียบกับคะแนนความก้าวหน้าเป็นรายบุคคลที่กำหนดไว้ นำคะแนนความก้าวหน้ารายบุคคลมาเป็นคะแนนกลุ่ม แล้วหาความก้าวหน้าเฉลี่ยของกลุ่ม
1.5 ทีมที่ได้รับการยกย่อง เป็นการนำคะแนนความก้าวหน้าของกลุ่มมาเทียบ
กับเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการสอนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ เทคนิค
STAD ทำให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ได้แก่ ทักษะการทำงานเป็นทีม การช่วยเหลือ
ซึ่งกันและกัน ความสามัคคี ความรับผิดชอบ กล้าแสดงออก และมีความมั่นใจในตนเอง
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 73.47 และมีนักเรียนจำนวน
ร้อยละ 75.00 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดได้คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป