ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดโกรกกราก
(กรับวิทยาทาน) สังกัดเทศบาลนครสมุทรสาคร
ผู้ศึกษา นายธงชัย นนทสี
ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดโกรกกราก(กรับวิทยาทาน)
ปีที่ประเมิน 2558
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดโกรกกราก (กรับวิทยาทาน) สังกัดเทศบาลนครสมุทรสาคร มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลการดำเนินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดโกรกกราก(กรับวิทยาทาน) สังกัดเทศบาลนครสมุทรสาคร ตามรูปแบบซิปป์โมเดล (CIPP Model) ประกอบด้วย การประเมินด้านบริบท การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า การประเมินด้านกระบวนการ และการประเมินด้านผลผลิต
กลุ่มเป้าหมายที่ศึกษาในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาและคณะกรรมการสถานศึกษา ครูประจำชั้น/ครูที่ปรึกษา ที่ได้มาจากวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive or Judgement Sampling) จำนวน 31 คน ผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 3 ที่ได้มาจากวิธีการสุ่มอย่างง่าย(Simple Random Sampling) ตามรูปแบบของเครจซี่และมอร์แกน จำนวน 200 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม จำนวน 7 ฉบับ ที่ผ่านการหาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามแล้ว นำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยการหาค่าเฉลี่ย( x̄) ค่าร้อยละ และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการประเมินโครงการ พบว่า
การประเมินด้านบริบท โดยภาพรวมมีความคิดเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีความคิดเห็นด้วยอยู่ในระดับมากทุกด้าน ( x̄ = 4.30) โดยมีค่าเฉลี่ยเรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ เป้าหมายโครงการ ( x̄ = 4.45) วัตถุประสงค์ ( x̄ = 4.24) และรูปแบบการดำเนินโครงการ ( x̄ = 4.20)
การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า โดยภาพรวมมีความคิดเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก ( x̄ = 3.77) และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก เรียงตามลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย ได้แก่ ความพร้อมด้านครูประจำชั้น/ครูที่ปรึกษา ( x̄ = 4.10) ความพร้อมด้านผู้บริหาร ( x̄ = 4.02) และความพร้อมด้านงบประมาณ ( x̄ = 3.79) ส่วนความพร้อมด้านผู้ปกครอง/ชุมชน มีความคิดเห็นด้วยอยู่ในระดับปานกลาง ( x̄ = 3.15)
การประเมินด้านกระบวนการ โดยภาพรวมมีความคิดเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก ( x̄ = 4.16) และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีความคิดเห็นด้วยอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยมีค่าเฉลี่ยเรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ ด้านการส่งเสริมนักเรียน ( x̄ = 4.35) รองลงมา คือ ด้านการป้องกัน และแก้ไข ( x̄ = 4.20) ด้านการคัดกรองนักเรียน ( x̄ = 4.14) ด้านการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล ( x̄ = 4.08) และด้านการส่งต่อนักเรียน ( x̄ = 4.02)
การประเมินด้านผลผลิต พบว่า
ด้านผลการดำเนินโครงการ และพฤติกรรมของนักเรียน โดยภาพรวมมีความคิดเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก ( x̄ = 4.15) และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีความคิดเห็นด้วยอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยมีค่าเฉลี่ยเรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ ด้านพฤติกรรมนักเรียน(x̄ =4.15) รองลงมา คือ ด้านผลการดำเนินโครงการ ( x̄ = 4.14)
ความพึงพอใจของครู ผู้ปกครอง และนักเรียนที่มีต่อโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ( x̄ = 4.20) และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่ามีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยมีค่าเฉลี่ยเรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ ด้านความพึงพอใจของนักเรียน ( x̄ = 4.39) ด้านความพึงพอใจของผู้ปกครอง ( x̄ = 4.20) และด้านความพึงพอใจของครู ( x̄ = 3.93)