ชื่อเรื่อง การพัฒนาทักษะการเรียนรู้การทำส้มตำ โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนรู้
การทำส้มตำ ประกอบเทคนิคการเรียนรู้ผ่านการมอง สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6
ผู้วิจัย นางทิพย์บุปผา เพ็ชรมาตศรี
ปีที่ทำการศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาทักษะการเรียนรู้การทำส้มตำ โดยใช้เอกสารประกอบการเรียนรู้การทำส้มตำ ประกอบเทคนิคการเรียนรู้ผ่านการมอง สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 2) เพื่อเปรียบเทียบผลการเรียนรู้การทำส้มตำก่อนและหลังใช้เอกสารประกอบการเรียนรู้การทำส้มตำ ประกอบเทคนิคการเรียนรู้ผ่านการมอง สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนนครศรีธรรมราชปัญญานุกูล อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้มาโดยเลือกแบบเจาะจง( Purposive sampling ) เป็นนักเรียนที่เลือกเรียนกิจกรรมชุมนุมการทำส้มตำ จำนวน 9 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ เอกสารประกอบการเรียนรู้การทำส้มตำ แผนการจัดการเรียนรู้การทำส้มตำ ประกอบเทคนิคการเรียนรู้ผ่านการมอง
แบบสังเกตประเมินผลการเรียนรู้การทำส้มตำก่อนและหลังใช้เอกสารประกอบการเรียนรู้ ประกอบเทคนิคการเรียนรู้ผ่านการมอง สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมุติฐานใช้การทดสอบของวิลคอกซัน (The Wilcoxon Matched Pairs Signed Ranks Test)
ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า
1. การทดลองใช้เอกสารประกอบการเรียนรู้การทำส้มตำ ประกอบเทคนิคการเรียนรู้ผ่านการมอง สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 มีคะแนนค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่บทที่ 6 เท่ากับ 39.11 ซึ่งเป็นการเรียนรู้การทำส้มตำของนักเรียนเป็นสัปดาห์สุดท้าย และคะแนนเฉลี่ยระหว่างการทดลองจะมีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อย ๆ แสดงว่าเอกสารประกอบการเรียนรู้การทำส้มตำ ประกอบเทคนิคการเรียนรู้ผ่านการมอง สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 มีผลทำให้การเรียนรู้การทำส้มตำของนักเรียนอยู่ในระดับดี
2. ผลการเรียนรู้การทำส้มตำก่อนและหลังใช้เอกสารประกอบการเรียนรู้การทำส้มตำ ประกอบเทคนิคการเรียนรู้ผ่านการมอง สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05