รายงานผลการพัฒนาทักษะการปฏิบัติงาน โดยเน้นการปฏิบัติ
รายวิชา ศ31101 ทัศนศิลป์
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนกัลยาณวัตร
นายกิตติพิศุทธิพันธุ์ คำโมง
ตำแหน่ง ครูวิทยฐานะครูชำนาญการ
โรงเรียนกัลยาณวัตร อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาขอนแก่น เขต 25
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
กระทรวงศึกษาธิการ
1. บทนำ
ทัศนศิลป์ (Visual Arts) เป็นสาระหนึ่งของสาระการเรียนรู้กลุ่มสาระศิลปะ
เป็นคำที่พึ่งนำมาใช้ในวงการศิลป์เมื่อไม่กี่ปีมานี้(วิรุณ ตั้งเจริญ.2543:11.อ้างใน อมรรัตน์ ทิมจิตร) หมายถึงศิลปะที่สามารถสื่อสารด้วยสายตา สามารถมองเห็นได้หรือสัมผัสได้ด้วยจักษุประสาท โดยยึดโลกหรือวัตถุที่ประจักษ์ได้เป็นแรงกระตุ้นสำคัญในการแสดงออกทางศิลปะ การสร้าง (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ2544:บทนำ) การสร้างงานสาขาต่างๆในกลุ่มงานทัศนศิลป์ได้แก่ รูปลักษณะใหม่ๆทั้งที่เป็นความแปลกใหม่ของลักษณะผลงานและหลักวิธีการใหม่ๆในกระบวนการสร้างงานทัศนศิลป์ (ชัยยุทธ รัตตนานุกูล2540:48) องค์ประกอบของงานทัศนศิลป์ สุชาติ เถาทอง ๖2538:67 ) กล่าวว่า โครงสร้างของงานทัศนศิลป์ประกอบด้วยดุลยภาพ (Balance) สัดส่วน(Property) ความกลมกลืน(Harmony) ช่วงจังหวะ(Rhythm) และจุดเด่นของงานศิลปะ(Dominance) ซึ่งหลักการนี้อาจจะไม่ได้เป็นองค์ประกอบตายตัวทั้งหมดแต่การจัดการผลงานสร้างสรรค์เป็นผลงานที่ต้องใช้ความรู้ทางด้านศิลปะสร้างสรรค์ผลงานให้มีความงดงามเหมาะสม งดงามได้สัดส่วน อย่างไรก็ตามการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ก็ต้องอาศัยหลักการโครงสร้างงานทัศนศิลป์เข้าช่วย
ผู้ศึกษาได้รับผิดชอบในรายวิชา ศ31101 ทัศนศิลป์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนกัลยาณวัตร ซึ่งจากประสบการณ์การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สาขาทัศนศิลป์และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับครูผู้สอนในสาระทัศนศิลป์ ทั้งภายในโรงเรียนและต่างโรงเรียน พบว่าการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในสาระทัศนศิลป์ยังไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนได้ตามวัตถุประสงค์ นักเรียนส่วนมากยังขาดความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีคุณภาพ เพราะนักเรียนยังขาดความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเรื่องทัศนศิลป์จึงทำให้ขาดทักษะการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ การถ่ายทอดผลงานศิลปะยังไม่สมบูรณ์ตามหลักการขององค์ประกอบทัศนศิลป์ และที่สำคัญยังขาดความสนใจ ความใส่ใจต่อการเรียนในสาระทัศนศิลป์ ยังมองไม่เห็นคุณค่าของงานทัศนศิลป์ ว่ามีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน การนำไปใช้ในการดำรงชีวิต และการศึกษาต่อในด้านสาระทัศนศิลป์ ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาหาแนวทางในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในสาระทัศนศิลป์ โดยศึกษาวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ผู้ศึกษามีความสนใจรูปแบบการสอนที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาทัศนศิลป์ ซึ่งสาระวิชาทัศนศิลป์นี้เป็นสาระที่มีทั้งความรู้ความเข้าใจในเรื่องงานเส้นและการนำความรู้เรื่องงานเส้นมาสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์และนำทักษะมาใช้สร้างสรรค์งานที่เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในวิชาชีพด้านการออกแบบต่างๆ เช่น การออกแบบเสื้อผ้า เครื่องประดับ การการออกแบบอาคารที่อยู่อาศัย หรือการนำทักษะด้านทัศนศิลป์มาผลิตผลงานจิตรกรรมเพื่อสังคม เพื่อการค้าโดยนักเรียนสามารถจัดแสดงผลงานทางทัศนศิลป์ตามจินตนาการของตนเองโดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสม สามารถเลือกและนำเทคนิควิธีการของศิลปินมาประยุกต์ใช้ วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์คุณค่างานทัศนศิลป์ เข้าใจและเห็นคุณค่าของงานศิลป์ มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยและสากล ดังนั้นผู้ศึกษาจึงได้ศึกษาแนวทางการจัดกิจกรรมที่เน้นการฝึกทักษะและประสบการณ์ที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความรู้ความเข้าใจองค์ประกอบศิลป์ ทัศนธาตุ มีทักษะสร้างสรรค์ผลงานด้านทัศนศิลป์และนำเสนอผลงาน และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้ศึกษาได้ศึกษาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในกลุ่มสาระที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาผู้เรียนทั้งองค์ความรู้และพัฒนาทักษะผู้เรียนควบคู่กันไปเช่นกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เป็นต้น จึงพบว่าการจัดกิจกรรมการเรียนที่พัฒนาผู้เรียนควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะมีหลายวิธี และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเน้นการปฏิบัติเป็นวิธีหนึ่งที่พบว่าได้นำมาใช้ในการพัฒนาผู้เรียนได้ดีในกลุ่มรายวิชาเหล่านี้ ผู้ศึกษาจึงสนใจและได้ศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติจริง ปฏิบัติการที่เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงจากการเผชิญสถานการณ์จริงและการแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการกระทำ ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง ฝึกคิด ฝึกลงมือทำ ฝึกทักษะกระบวนการต่าง ๆ ฝึกการแก้ปัญหาด้วยตนเองและฝึกทักษะ ผู้เรียนได้เรียนรู้ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติตามแนวประชาธิปไตย การพัฒนาผู้เรียนด้วยวิธีการจัดกิจกรรมที่เน้นการปฏิบัติควบคู่ไปกับการประเมินสภาพจริงเป็นรูปแบบที่สามารถพัฒนาผู้เรียนทั้งทางด้านความรู้ความเข้าใจและทักษะของผู้เรียนควบคู่กันไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติเป็นการนำแนวคิดทฤษฎีรูปแบบการสอนชื่อ การสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่ม จอห์น ดิวอี้ (John Dewey: Group Investigation Model) กับรูปแบบการสอนแบบปฏิบัติการมาประยุกต์เข้าด้วยกันเป็นรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติจริง เนื่องจากทั้งสองรูปแบบนี้มีลักษณะ จุดมุ่งหมายกระบวนการ และผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนมีลักษณะที่สอดคล้องกัน
จากแนวคิดรูปแบบการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้เป็นกลุ่ม และการสอนแบบปฏิบัติการ นำมาสังเคราะห์และพัฒนาแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติได้ ต้องเชื่อว่า ความรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ลักษณะการออกแบบการเรียนรู้จะกระตุ้นให้ผู้เรียนค้นพบ เรียนรู้จากประสบการณ์ เรียนรู้สภาพจริง เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง มีอิสระในการปฏิบัติงาน
ดังนั้นผู้ศึกษาจึงได้เลือกแนวการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติจริงมาใช้ในการพัฒนาทักษะผู้เรียนในรายวิชา ศ31101 ทัศนศิลป์ ซึ่งในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยวิธีการที่เน้นปฏิบัติและควบคู่ไปกับการประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตลอดภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2558 ซึ่งผู้ศึกษามีแนวคิดว่าจะเป็นกิจกรรมที่สามารถนำมาใช้ให้พัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพในการเรียนรู้ได้ตามวัตถุประสงค์
2. วัตถุประสงค์ของการศึกษา
2.1 เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายวิชา ศ41101 ทัศนศิลป์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนกัลยาณวัตรโดยกำหนดเกณฑ์การประเมิน 80/80
2.2 เพื่อพัฒนาทักษะการปฏิบัติงาน รายวิชา ศ41101 ทัศนศิลป์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนกัลยาณวัตร
2.3 เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติ
3. ขอบเขตของการศึกษา
3.1 กลุ่มประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนกัลยาณวัตร อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาขอนแก่น เขต 25 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 15 ห้องเรียน จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 691 คน
กลุ่มตัวอย่าง ได้จากการสุ่มจากนักเรียนที่ผู้ศึกษารับผิดชอบการสอน ในรายวิชา
ศ31101 ทัศนศิลป์ ปีการศึกษา 2558 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 1 จำนวน 7 ห้อง ผู้ศึกษาได้นำผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 ในกลุ่มสาระศิลปะมาหาคะแนนเฉลี่ย ของแต่ละห้อง พบว่าคะแนนเฉลี่ยของทั้ง 7 ห้อง ห้องมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ผู้ศึกษาได้นำทั้ง 7 ห้องเรียนมาสุ่มอย่างง่าย( simple random sampling : SRS ) ด้วยวิธีจับฉลากเพื่อใช้ในการทดลองได้นักเรียนชั้นห้องที่ 10 จำนวน 50 คนเป็นกลุ่มตัวอย่าง
3.2 เนื้อหาที่ใช้ในการศึกษา คือ เนื้อหา ในรายวิชา ศ31101 ทัศนศิลป์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
3.3 ระยะเวลาในการศึกษา คือ ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558
3.4 ตัวแปรที่ศึกษา
3.4.1 ตัวแปรต้น ได้แก่ การจัดการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติ
3.4.2 ตัวแปรตาม ได้แก่
1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
2) ทักษะการปฏิบัติงานของนักเรียน
3) ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติ
4. ผลการศึกษา พบว่า
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายวิชา ศ31101 ทัศนศิลป์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 86.56 และมีจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80 คิดเป็นร้อยละ 100
2. ทักษะการปฏิบัติงาน รายวิชา ศ31101 ทัศนศิลป์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 80.24
3. ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติ โดยรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ( = 4.38 , S.D. = 0.70 ) .