ชื่อเรื่อง : การพัฒนาหลักสูตรอิงมาตรฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีโดย
บูรณาการเนื้อหาภูมิปัญญาท้องถิ่นสุรินทร์
ผู้วิจัย : มานพ สารสุข , โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ อำเภอเมือง จังหวัด
สุรินทร์ ปีการศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรอิงมาตรฐานกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยีโดยบูรณาการเนื้อหาภูมิปัญญาท้องถิ่นสุรินทร์ 2) สร้างและหาประสิทธิภาพหลักสูตร 3) ทดลองใช้หลักสูตร และ 4) ประเมินผลการใช้หลักสูตรที่สร้างขึ้น โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการวิจัย ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตร แหล่งข้อมูลในการวิจัยคือ 1) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรสถานศึกษา 2) ครูผู้สอน ศึกษานิเทศก์ คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถามความต้องการในสาระการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสุรินทร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การวิเคราะห์เนื้อหา ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย ( ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ขั้นตอนที่ 2 สร้างและหาประสิทธิภาพหลักสูตร แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) ผู้ทรงภูมิปัญญาท้องถิ่นสุรินทร์ จำนวน 6 คน เพื่อศึกษาภูมิปัญญามาจัดทำสาระการเรียนรู้ในหลักสูตร เครื่องมือที่ใช้ คือแบบสัมภาษณ์เชิงลึก และแบบสังเกตการณ์การทำงาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพแบบอุปนัย 2) ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน พิจารณาความเหมาะสมและความสอดคล้องของหลักสูตรและแผนการจัดการเรียนรู้ เครื่องมือที่ใช้ คือ หลักสูตรและแผนการจัดการเรียนรู้ที่สร้างขึ้นและแบบประเมินความเหมาะสมและความสอดคล้องของโครงร่างหลักสูตร สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( )
ขั้นตอนที่ 3 ทดลองใช้หลักสูตร กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 ภาคเรียนที่ 2/2557 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ จำนวน 34 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบประเมินทักษะการปฏิบัติงานของนักเรียน และแบบสังเกตพฤติกรรมนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ การทดสอบค่าที (t-test) แบบไม่เป็นอิสระ และค่าเฉลี่ยร้อยละ ( %)
ขั้นตอนที่ 4 การประเมินผลการใช้หลักสูตร แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการวิจัย คือ 1) นักเรียน จำนวน 34 คน และ 2) ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 11 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน และแบบสอบถามความเหมาะสมของหลักสูตรต่อการนำไปใช้ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( )
ผลการวิจัย พบว่า
1. สาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ต้องจัดให้ครบสาระสำคัญ 6 งาน คือ งานบ้าน งานเกษตร งานประดิษฐ์ งานช่าง งานธุรกิจ และคอมพิวเตอร์ ครอบคลุม 4 มาตรฐาน 14 ตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลาง ปัจจุบันพบว่าโรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ ยังขาดการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดการเรียนรู้ที่เป็นระบบและผู้เกี่ยวข้องมีความต้องการให้นำสาระการเรียนรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นสุรินทร์มาจัดเป็นเนื้อหาในหลักสูตร
2. หลักสูตรที่สร้างขึ้นประกอบด้วย ความเป็นมาและความสำคัญ หลักการ จุดมุ่งหมาย เกณฑ์การใช้หลักสูตร การวิเคราะห์ความสอดคล้องของภูมิปัญญาท้องถิ่นสุรินทร์กับสาระการเรียนรู้แกนกลาง คำอธิบายรายวิชา การจัดหน่วยการเรียนรู้ โครงสร้างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แนวทางการจัดการเรียนรู้ แนวทางการวัดผลประเมินผล และแผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าหลักสูตรมีความเหมาะสมและสอดคล้องทุกด้าน
3. นักเรียนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนด้านทักษะการปฏิบัติงาน นักเรียนมีคะแนนคิดเป็นร้อยละ 83.73 และด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ นักเรียน มีคะแนนคิดเป็นร้อยละ 82. 23
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนในระดับมากและ ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นว่าหลักสูตรมีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้จริง อยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดทุกด้าน