บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาผลการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โดยครอบครัวมีส่วนร่วม ของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดตาก 2) เพื่อศึกษาผลการพัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โดยครอบครัวมีส่วนร่วม ของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดตาก 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มสำหรับนักเรียนมีความบกพร่องทางสติปัญญา โดยครอบครัวมีส่วนร่วม ของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดตาก กลุ่มเป้าหมายเลือกแบบเจาะจงจากครูผู้สอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา จำนวน 10 คน นักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาที่มารับบริการประเภท ไป-กลับ จำนวน 20 คน ผู้ปกครองนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ที่มารับบริการประเภท ไป-กลับ จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นเครื่องมือที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้นซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงทางเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 คน และดำเนินการหาคุณภาพเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ 1) แบบสอบถามระดับการปฏิบัติของการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โดยครอบครัวมีส่วนร่วม ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก 2) แบบบันทึกผลการพัฒนาศักยภาพสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาโดยครอบครัวมีส่วนร่วม ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก 3) แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โดยครอบครัวมีส่วนร่วม ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โดยครอบครัวมีส่วนร่วม ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก พบว่า มีค่าเฉลี่ยของระดับการปฏิบัติโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (μ = 4.66, σ = 0.24) โดยขั้นตอนที่ 6 การประเมินความก้าวหน้าของพัฒนาการ มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด (μ = 4.69, σ = 0.34) รองลงมาคือขั้นตอนที่ 3 การจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (μ = 4.66, σ = 0.28)
2. ผลการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โดยครอบครัวมีส่วนร่วม ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก พบว่า นักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีพัฒนาการดีขึ้นทุกทักษะ โดยทักษะที่มีผลการพัฒนาสูงที่สุดคือทักษะทางสังคม รองลงมาคือทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก
3. ผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โดยครอบครัวมีส่วนร่วม ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตาก พบว่า โดยรวมผู้ปกครองมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (μ = 4.69, σ = 0.32) ขั้นตอนที่ 5 การปรับ/ทบทวนแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด (μ = 4.77,
σ = 0.39) 2) รองลงมาคือขั้นตอนที่ 3 การจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (μ = 4.71, σ = 0.36)