เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของกลุ่มลูกจ้างสังกัดสำนัก สพฐ.จำนวน 7 หมื่นกว่าคนที่มาชุมนุมเรียกร้องให้เปลี่ยนวิธีการจ้างจากการจ้างเหมาบริการไปเป็นวิธีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวตามเดิม โดย สพฐ.ได้เสนอเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) และกรมบัญชีกลางแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบใดกลับมา อย่างไรก็ตามเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของลูกจ้าง สพฐ.ได้ออกหนังสือกำชับไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตให้ทำสัญญาและจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยได้เน้นย้ำกับเขตพื้นที่ฯ ให้แจ้งไปยังโรงเรียนที่ได้รับอัตราจ้าง ว่า ให้จ้างตามงบประมาณที่ได้ คือ จ้างเหมาบริการไปก่อน หาก ก.พ.หรือหน่วยงานที่หารือไปยินยอมให้เปลี่ยนการจ้างได้ก็ค่อยมาของบประมาณเพื่อมาจ่ายเป็นเงินสมทบประกันสังคมได้ แต่ตอนนี้ต้องจ่ายตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง คือ จ่ายในลักษณะของการจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุไปก่อน
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแก้ปัญหาเด็กออกนอกระบบตามโครงการ Thailand Zero Dropout เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์นั้น วันนี้ในระบบของ สพฐ.พบว่า มีเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้วรวมทั้งสิ้น 400,000 กว่าคนแล้ว โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กในสังกัด สพฐ. 100,000 กว่าคน ซึ่ง สพฐ.ได้ทำโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นําการเรียนไปให้น้อง” หรือ OBEC Zero Dropout ในการติดตามค้นหาพาน้องกลับมาเรียนและนำการเรียนไปให้น้อง โดยส่งรายชื่อเด็กที่หลุดออกจากระบบทั้งหมดไปให้เขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตแล้ว เพื่อติดตามค้นหาและพาเด็กกลับมา แต่สำหรับคนที่ไม่กลับมาเราก็จะนำการศึกษาไปให้ โดยมีเด็กกลุ่มที่ต้องทำเป็นพิเศษ คือ เด็กที่ป่วยอยู่โรงพยาบาลหรืออยู่ที่บ้าน โดยมีสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ หรือ สศศ. ที่จะนำสื่อการเรียนต่าง ๆ เข้าไปให้ที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล เพื่อให้น้องทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน
ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 นั้น ตนได้เน้นย้ำกับผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ ของ สพฐ.ว่า ให้ไปเตรียมจัดทำคำของบฯ ให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. และได้ย้ำเป็นพิเศษโดยให้ทุกสำนักจัดทำคำของบฯแนวใหม่ คือ ให้มีโครงการใหม่ ๆ นโยบายใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน การพัฒนาครู การพัฒนาสื่อ ตามนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime การลดภาระครู และการทำพอร์ตโฟลิโอออนไลน์เพื่อความสะดวกและคล่องตัวสำหรับเด็ก ในอนาคตเมื่อเด็กจะไปเรียนต่อก็ไม่จำเป็นต้องถือแฟ้มใหญ่ ๆ ไปอาจจะถือเป็นแฟลชไดร์ฟ หรือแผ่นดิสก์ก็ใช้เปิดได้แล้ว หรือบางคนอาจจะแขวนไว้ในคลาวด์แล้วดึงออกมาใช้ได้เลย เป็นการเน้นนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนตามนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ
“นอกจากนี้ผมยังสั่งการให้มีการทำบัตรสุขภาพเด็กออนไลน์ในปี 2569 ด้วย โดยจะมีข้อมูลประวัติสุขภาพของเด็กทุกคน ไม่ว่าจะเป็นประวัติการเจ็บป่วยหรือปัญหาสุขภาพ เพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนและดูแลความปลอดภัยได้ ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนนโยบายเรียนดี มีความสุข ให้ลงถึงห้องเรียน เพราะตัวชี้วัดที่จะชี้ว่าเด็กมีความสุขหรือไม่ ตามนโยบาย เรียนดี มีความสุข จะต้องดูที่ตัวนักเรียน และ ครู ถ้าถามนักเรียนแล้วมีความสุขอยากมาโรงเรียน ถามครูก็อยากสอน อยากมาโรงเรียน ทุกคนมีความสุข ก็ถือว่าเราไปถึงเป้าหมายแล้ว โดยผมได้เน้นย้ำไปกับผอ.เขตพื้นที่ฯ และ ผอ.โรงเรียนว่า จะต้องทำความเข้าใจกับครูผู้สอน นักเรียน และ ประชาชนว่า นโยบายเรียนดี มีความสุขตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ ผู้เรียน และ ครู ที่จะต้องมีความสุข”เลขาธิการกพฐ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โพสต์เมื่อ 26 พ.ย. 2567 อ่าน 177 | 0 ความเห็น
·····
·····
จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)