ปัญหาของชาวโซเชียล เฟซบุ๊กกับภาวะซึมเศร้า



ปัญหาของชาวโซเชียล เฟซบุ๊กกับภาวะซึมเศร้า

โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

เทศกาลสงกรานต์เวียนมาบรรจบกันอีกครั้ง คนส่วนใหญ่มีวันหยุดยาว จำนวนมากคงออกเดินทางไปเที่ยวหรือไปร่วมฉลองสงกรานต์กัน เป็นเวลาที่มีกิจกรรมอย่างอื่นๆ นอกบ้านกัน เคยสังเกตอยู่เหมือนกันว่าในช่วงวันหยุดหลายๆ วันแบบนี้ ความเคลื่อนไหวต่างๆ บนโซเชียล เน็ตเวิร์ก อย่างเช่นเฟซบุ๊กจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ความถี่ในการโพสต์การแชร์อะไรต่อมิอะไรลดลงไปบ้าง

อาจจะถือเป็นเรื่องดีที่ได้ละจากโซเชียลเน็ตเวิร์กกันบ้าง อย่างน้อยก็ลดลงเพราะช่วงแบบนี้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นกันมากขึ้น เพราะพูดกันตามตรงปัญหาสุขภาพจิตกับเฟซบุ๊กมันเคียงคู่กันมา เช่น การเกิดภาวะซึมเศร้า เป็นต้น มีผลการศึกษาหลายต่อหลายชิ้นชี้ให้เห็นเรื่องนี้

เมื่อเร็วๆ นี้มีผลการศึกษาใหม่ล่าสุดอีกชิ้นตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารจิตวิทยาสังคมและคลินิก (Journal of Social and Clinical Psychology) ที่ไม่เพียงชี้ให้เห็นว่าภาวะซึมเศร้ากับเฟซบุ๊กเป็นสิ่งที่ควบคู่กันมาเท่านั้น แต่องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะอันไม่พึงปรารถนาดังกล่าวคือการเปรียบเทียบทางสังคม

นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยฮุสตันสอบถามกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊ก ดูแนวโน้มการเปรียบเทียบทางสังคมที่กลุ่มตัวอย่างใช้เมื่อเข้าเฟซบุ๊ก เทียบกับความถี่ในการเกิดภาวะซึมเศร้า

ผลลัพธ์ที่ได้มาก็คือ คนใช้เฟซบุ๊กมากกว่า ก็จะพบว่ามีอาการซึมเศร้าเกิดขึ้นมากกว่า และสื่อกลางที่นำไปสู่อาการเช่นนั้นคือการเปรียบเทียบทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบกับผู้ที่เหนือกว่า ด้อยกว่า หรือเสมอกัน ที่ใช้เฟซบุ๊กแล้วเกิดอาการซึมเศร้าก็เพราะเข้าไปแล้วก็จะทำการเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ จากเนื้อหาต่างๆ ที่คนอื่นโพสต์เอาไว้

การเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ แล้วนำไปสู่ภาวะสุขภาพจิตอันไม่พึงปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ หงุดหงิด อิจฉาริษยา หรือถึงขั้นซึมเศร้านั้น ที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องที่พอรู้กันอยู่ว่ามันก็เกิดขึ้นอยู่ในชีวิตประจำวันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แม้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเฟซบุ๊กหรือโซเชียล เน็ตเวิร์กอยู่ในโลกนี้เลยก็ตาม

แต่การวิจัยพบว่าคนใช้เฟซบุ๊กมีแนวโน้มจะเกิดอาการมาก อาการที่เกิดขึ้นนั้นมาจากเมื่อใช้แล้วก็เกิดการเปรียบเทียบกันคนอื่นๆ ตามมา ยิ่งใช้มากโอกาสเกิดก็ยิ่งมาก

การเปรียบเทียบทางสังคมเป็นเรื่องที่อดไม่ได้สำหรับปุถุชนทั้งหลาย ลองถามตัวเองกันดูก็ได้ว่าเคยเห็นสิ่งที่เพื่อนๆ โพสต์บนเฟซบุ๊กแล้วเกิดการเปรียบเทียบกับตัวเองบ้างไหม ใครตอบว่าไม่เคย สันนิษฐานได้เลยว่าโกหก

จากผลงานวิจัยชิ้นนี้ทำให้มีข้อแนะนำว่า ถ้าใครใช้เฟซบุ๊กหรือโซเชียล เน็ตเวิร์กอื่นๆ ทั้งหลายแล้วเกิดอารมณ์บ่จอยค่อนข้างถี่ ให้ระลึกไว้เลยว่าควรจะถอยห่างออกจากมันได้แล้ว พร้อมๆ กับการไปฝึกจิตให้มั่นคง หาหนทางเคารพนับถือตัวเองให้มากขึ้นมากๆ รู้จักเปรียบเทียบในเชิงบวกให้เป็น ไม่ใช่เอาแต่ถ่มถุยตัวเองไม่หยุดหย่อน

หากทำไม่ได้ เลิกเล่นไปเลยก็เป็นวิธีหนึ่งในการรักษาสุขภาพจิตตัวเองไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีแนวโน้มเกิดภาวะซึมเศร้าง่ายๆ

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะละจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ออกไปฉลองกับชาวบ้านชาวช่องเขา ออกไปแล้วก็ให้มือห่างจากโทรศัพท์มือถือด้วย เพราะขืนเอาออกมาจิ้มๆ ไม่ดูตาม้าตาเรือ โดนสาดน้ำเข้าไปมันอาจพังได้ จะยิ่งทำให้ซึมเศร้าหนักขึ้นอีก

 

ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2558

โพสต์เมื่อ 14 เม.ย. 2558 อ่าน 12767 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


ถอด 3 กลยุทธ์สร้างห้องเรียนออนไลน์ให้ ถูกใจผู้สอน โดนใจคนเรียน [อ่าน 8147]
ในปี 2561 แมชชีนเลิร์นนิ่งจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุด นับตั้งแต่โลกใบนี้มีอินเทอร์เน็ต [อ่าน 13703]
องค์กรของคุณใช้เครื่องมืออัตโนมัติด้านไอทีที่เหมาะสมหรือไม่ [อ่าน 9439]
การเรียนรู้โดยใช้แป้นพิมพ์แทนการเขียน ดีหรือไม่? [อ่าน 20220]
ปัญหาของชาวโซเชียล เฟซบุ๊กกับภาวะซึมเศร้า [อ่าน 12767]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)