ผู้วิจัย นางสาวทัศนีย์ พลโก ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ 2) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) เพื่อทดลองใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ และ 4) เพื่อประเมินผลการเรียนรู้ด้านการอ่านจับใจความสำคัญ และความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/6 โรงเรียนเทศบาล 4 ระบบสาธิตเทศบาลเมืองลพบุรี จำนวน 39 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (cluster random sampling) ระยะเวลาในการทลองรวมทั้งหมด 20 ชั่วโมง แบบแผนการทดลองคือ The one group pretest-posttest design เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสอบถาม 2) แบบสัมภาษณ์ 3) แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ และ 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และแบบประเมินความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย (x̄) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นักเรียนต้องการเรียนแบบฝึกทักษะที่หลากหลาย ได้เรียนเรื่องที่น่าสนใจหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน ต้องการให้มีสื่อประเภทอื่นๆ ต้องการแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญแบบรายบุคคล และเน้นกระบวนการกลุ่ม และต้องการแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญที่มีการฝึกจากง่ายไปหายาก ความต้องการของครูผู้สอน ต้องการให้ แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีหลายรูปแบบ เนื้อหาน่าสนใจ เข้าใจง่าย เป็นเรื่องราวใกล้ตัวนักเรียน หรือข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ข่าวและเหตุการณ์ นิทาน บทร้อยกรอง สารคดีต่างๆ และบทความ ศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น
2. ผลการพัฒนาและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า แบบฝึกทักษะการอ่าน จับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่พัฒนาขึ้น จำนวน 6 เล่ม มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.43/81.07
3. ผลทดลองใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ผลการประเมินและปรับปรุงแบบฝึกการอ่านจับใจความสำคัญ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 39 คน พบว่า ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความสำคัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x̄ = 2.59)