ชื่อเรื่อง การจัดประสบการณ์แบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมความสามารถ
ด้านมิติสัมพันธ์ของเด็กปฐมวัย
ชื่อผู้วิจัย นางกานต์พิชชา เกษสาคร
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ โรงเรียนเทศบาลตาคลี (ขุนตาคลีคณะกิจ)
กองการศึกษา เทศบาลเมืองตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
ปีที่วิจัย 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ของเด็กปฐมวัยที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 และเพื่อเปรียบเทียบคะแนนความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ของเด็กปฐมวัยก่อนและหลังการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ นักเรียนชายหญิงที่มีอายุระหว่าง 5-6 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาลตาคลี (ขุนตาคลีคณะกิจ) กองการศึกษา เทศบาลเมืองตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือแผนการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการ 3 กิจกรรมหลัก จำนวน 40 แผน มีค่าประสิทธิภาพของแผนที่ผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน ประเมินพิจารณาเท่ากับ 4.84 ซึ่งมีความเหมาะสมมากที่สุดทุกแผน และแบบทดสอบเชิงปฏิบัติวัดความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ จำนวน 20 ข้อ มีค่าความยากง่ายระหว่าง 0.50-0.76 ค่าอำนาจจำแนก ระหว่าง 0.26-0.52 และค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.98, 0.97 และ0.96 ตามลำดับ โดยใช้แบบแผนการทดลองแบบ One-group pretest-posttest design และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และค่า t-test (Dependent Sample)
ผลการวิจัยพบว่า
1. การจัดประสบการณ์แบบบูรณาการเพื่อส่งเสริมความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ของเด็กปฐมวัยมีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 86.27/87.00
2. เด็กปฐมวัยมีความสามารถด้านมิติสัมพันธ์หลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01