นางสาวสุดธิดา พรมแพง. 2560. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง บทประยุกต์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่องบทประยุกต์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ 2) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 80 และมีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนร้อยละ 80 ขึ้นไป กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านหนองแดง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 27 คน รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เครื่องมือที่ใช้แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ จำนวน 16 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ แบบบันทึกผลการใช้แผนการจัดกิจกรรมเรียนรู้ แบบประเมินกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ แบบฝึกทักษะ แบบทดสอบย่อยท้ายวงจร 3) เครื่องมือประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ และสรุปเป็นความเรียง
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ประกอบด้วยกิจกรรม 5 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน เป็นขั้นเตรียมความพร้อม แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ และทบทวนความรู้เดิมของนักเรียน 2) ขั้นสอน เป็นขั้นที่นักเรียนจะเกิดการพัฒนามโนมติ มีขั้นตอนย่อย ดังนี้ 2.1) ขั้นเผชิญสถานการณ์ปัญหาและแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล โดยครูเสนอปัญหาที่สัมพันธ์กับบทเรียนและสอดคล้องกับชีวิตประจำวันให้นักเรียนค้นหาความรู้ที่จะนำมาแก้ปัญหาด้วยตนเอง 2.2) ขั้นไตร่ตรองทางปัญญาระดับกลุ่มย่อย เป็นขั้นที่สมาชิกในกลุ่มเสนอแนวทางแก้ปัญหาของตนเอง สมาชิกกลุ่มร่วมกันตรวจสอบแนวทางของ แต่ละคน อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มย่อย แล้วร่วมกันเลือกแนวทางในการแก้ปัญหา ที่เหมาะสม 2.3) ขั้นไตร่ตรองระดับชั้นเรียน เป็นขั้นที่กลุ่มย่อยนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อทั้งชั้น อภิปรายซักถามที่กลุ่มนำเสนอ ตรวจสอบความถูกต้องและความสมเหตุสมผล 3) ขั้นสรุป เป็นขั้นที่นักเรียนร่วมกันสรุปแนวคิด หลักการ ความคิดรวบยอดในเรื่องที่เรียนโดยครูช่วยสรุปเพิ่มเติมหลักการที่ถูกต้อง 4) ขั้นฝึกทักษะและนำไปใช้ เป็นขั้นที่ฝึกให้นักเรียนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ต่างๆด้วยการทำแบบฝึกทักษะ แบบฝึกหัด 5) ขั้นวัดผลและประเมินผล เป็นขั้นสังเกตพฤติกรรมทางการเรียน การร่วมกิจกรรม การตรวจแบบฝึกหัด แบบฝึกทักษะตรวจแบบทดสอบย่อยท้ายวงจร ประเมินกระบวนการแก้ปัญหา ตลอดจนทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 83.52 และมีนักเรียนผ่านเกณฑ์จำนวน 22 คน คิดเป็นร้อยละ 81.48 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้