การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาความสามารถการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนของครูในโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยาหลังการใช้กระบวนการนิเทศโดยใช้วงจรเดมมิ่งผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ 2) เพื่อศึกษาคุณภาพรายงานวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนของครูในโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยาหลังการใช้กระบวนการนิเทศโดยใช้วงจรเดมมิ่งผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย คือ ครูในโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา จำนวน 696 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ครูโรงเรียนเมืองพัทยา 5 (บ้านเนินพัทธยาเหนือ) ปีการศึกษา 2559 จำนวน 63 คน ซึ่งได้จากการเลือกแบบเจาะจง และชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ ประกอบด้วย ครูพี่เลี้ยงจากโรงเรียนเมืองพัทยา 11 (มัธยมสาธิตพัทธยา) จำนวน 12 คน ผู้นิเทศภายใน จำนวน 2 คน ศึกษานิเทศก์ จำนวน 3 คน และผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 2 คน ขั้นตอนของกระบวนการนิเทศโดยใช้วงจรเดมมิ่งผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 วางแผนวิจัย ประเมินและสะท้อนคิด ขั้นที่ 2 ดำเนินการวิจัยตามแผน ขั้นที่ 3 ตรวจสอบการดำเนินงานตามแผน พร้อมสะท้อนคิด และ ขั้นที่ 4 ปรับปรุงแก้ไขจากการประเมินและการสะท้อนคิด เครื่องมือทดลอง คือ คู่มือการนิเทศโดยใช้วงจรเดมมิ่งผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ เครื่องมือวิจัย คือ แบบประเมินความสามารถการทำวิจัยในชั้นเรียน แบบประเมินคุณภาพรายงานวิจัยในชั้นเรียน และแบบบันทึกการสะท้อนคิด วิเคราะห์ข้อมูลด้วย ค่าเฉลี่ย และร้อยละ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบดังนี้
1.หลังการใช้กระบวนการนิเทศโดยใช้วงจรเดมมิ่งผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพครูในโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา โดยรวม มีความสามารถทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนอยู่ในระดับดี
2. หลังการใช้กระบวนการนิเทศโดยใช้วงจรเดมมิ่งผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ คุณภาพของรายงานวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนของครูในโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา โดยรวมอยู่ในระดับดี จำแนกเป็น รายงานวิจัยร้อยละ 20.63 อยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 50.79 อยู่ในระดับดี และ ร้อยละ 28.57 อยู่ในระดับปานกลาง เมื่อจำแนกตามรายการหัวข้อรายงานวิจัยที่ครูผู้สอนส่วนมากทำได้ดีแล้ว คือ ชื่อหัวข้อวิจัย อยู่ในระดับดีที่สุด นอกนั้นอยู่ในระดับดี
จากการสะท้อนคิดของครูต่อการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน พบว่า ครูมีความมั่นใจ และเข้าใจในการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะการตั้งชื่อหัวข้อวิจัย การเขียนวัตถุประสงค์ การสรุป อภิปรายและข้อเสนอแนะ ครูมีความรู้สึกว่างานวิจัยทำได้ง่ายและมีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน และมีความพึงพอใจต่อการให้คำชี้แนะและเป็นพี่เลี้ยงของชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ ทำให้ครูสามารถทำงานวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนได้จนสำเร็จ