ชื่อเรื่อง การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยใช้รูปแบบการเรียนตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง การหาร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นายปิติกร หงษ์เวียง
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง การหาร และ 2) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง การหาร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้นักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป กลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านหนองพู่วังหินซา อำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 5 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 12 คน รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เครื่องมือที่ใช้แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ จำนวน 17 แผน 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติ ได้แก่ แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ แบบบันทึกผลการใช้แผนการจัดกิจกรรมเรียนรู้ แบบฝึกทักษะ แบบทดสอบย่อยท้ายวงจร 3) เครื่องมือประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ และสรุปเป็นความเรียง
ผลการวิจัยพบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ เรื่อง การหาร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นนำ เป็นขั้นเตรียมความพร้อมของนักเรียน กิจกรรมประกอบด้วย (1) แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ให้นักเรียนทราบ (2) ทบทวนความรู้เดิม เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนระลึกถึงประสบการณ์เดิมเพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างความรู้ใหม่ โดยใช้การสนทนา ซักถาม เป็นต้น 2) ขั้นสอน กิจกรรมประกอบด้วย (1) ขั้นเผชิญสถานการณ์ปัญหาและแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล โดยครูเสนอสถานการณ์ปัญหาที่สัมพันธ์กับบทเรียน นักเรียนหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเองแล้วบันทึกวิธีการแก้ปัญหาลงในใบกิจรรมรายบุคคล (2) ขั้นไตร่ตรองระดับกลุ่ม เป็นขั้นที่นักเรียนแต่ละคนเข้ากลุ่มและนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาของตนเองต่อกลุ่ม สมาชิกในกลุ่มร่วมกันแสดงความคิดเห็นและเลือกวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดเป็นวิธีการแก้ปัญหาของกลุ่ม แล้วบันทึกลงในใบกิจกรรมกลุ่ม (3) ขั้นไตร่ตรองระดับชั้นเรียน เป็นขั้นที่แต่ละกลุ่มเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อทั้งชั้นและแสดงให้เห็นถึงความสมเหตุสมผลของวิธีการแก้ปัญหา นักเรียนทุกคนร่วมกันแสดงความคิดเห็นและสรุปวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุด ครูช่วยเสริมวิธีการแก้ปัญหาที่กลุ่มไม่ได้เลือก 3) ขั้นสรุป เป็นขั้นที่นักเรียนและครูร่วมกันสรุปหลักการและกระบวนการแก้ปัญหาในเรื่องที่เรียน ครูช่วยเสริมและเชื่อมโยงความคิด หลักการ และกระบวนการแก้ปัญหาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น 4) ขั้นฝึกทักษะ เป็นขั้นที่ให้นักเรียนทำแบบฝึกทักษะที่ครูสร้างขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่หลากหลายคล้ายคลึงกับสถานการณ์เดิม และสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 84.72 และมีนักเรียนร้อยละ 83.33 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป