ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....



เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญ เกี่ยวกับการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ดังนี้ 


คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นการล่วงหน้า และให้ดำเนินการต่อไปได้
 
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
                   กค. เสนอว่า
                   1. ด้วยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (28 พฤศจิกายน 2566) เห็นชอบกับรายงานผลการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเห็นชอบในหลักการการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว ดังนี้
                             1) การปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิมเงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท เป็น เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท และปรับเพดานขั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เดือนละ 10,000 บาท เป็น เดือนละ 11,000 บาท2
                             2) การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญโดยปรับเงินเพิ่มการครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญขั้นต่ำ จากเดิม เดือนละ 10,000 บาท เป็น เดือนละ 11,000 บาททั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
                   2. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อรองรับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว และแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีตามข้อ 1. รวมทั้งเพื่อให้ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน กค. โดยกรมบัญชีกลางจึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงอัตราเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เพื่อกำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญซึ่งเมื่อรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญแล้วต่ำกว่าเดือนละ 11,000 บาท ให้ได้รับเงินช่วยค่ครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้นจนครบเดือนละ 11,000 บาท ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ประเด็น รายละเอียด
1. ผู้มีสิทธิ Ÿ ผู้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม
Ÿ ผู้รับบำนาญปกติ3
Ÿ ผู้รับบำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ4
Ÿ บำนาญพิเศษ5
Ÿ บำนาญตกทอดในฐานะทายาทหรือผู้อุปการระหรือผู้อยู่ในอุปการะ6
2. เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญที่ได้รับ Ÿ ถ้าได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญรวมกันทุกประเภท เมื่อรวมกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญแล้วต่ำกว่าเดือนละ 11,000 บาท ให้ได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้นจนครบเดือนละ 11,000 บาท (เดิม 10,000 บาท)
3. วันที่มีผลใช้บังคับ Ÿ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

                   3. กค. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยงบประมาณที่ต้องใช้ในการปรับเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 2.33 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 27.96 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับเบี้ยหวัดและผู้รับบำนาญสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ
______________________
1 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2562
2 กค. จะต้องแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และทหารกองประจำการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการยกร่างระเบียบดังกล่าวโดยกรมบัญชีกลางและจะเสนอคณะรัฐมนตรีในลำดับต่อไป
3 มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 กำหนดให้ข้าราชการมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญปกติด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง จำนวน 4 เหตุ ได้แก่ 1) เหตุทดแทน 2) เหตุทุพพลภาพ 3) เหตุสูงอายุ 4) เหตุรับราชการนาน
4 มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญฯ กำหนดให้บำเหน็จบำนาญเหตุทพพลภาพนั้น ให้แก่ข้าราชการผู้ป่วยเจ็บทุพพลภาพ ซึ่งแพทย์ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าไม่สามารถที่จะรับราชการในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไป
5 บำนาญพิเศษ คือ เงินที่จะต้องจ่ายให้แก่ทายาทของข้าราชการผู้นั้น เพราะเหตุเสียชีวิต อันมาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่
6 ปัจจุบัน คือ เงินบำเหน็จตกทอด (เงินที่รัฐจ่ายให้แก่ทายาทของผู้ที่ถึงแก่ความตาย ซึ่งจ่ายเป็นเงินก้อนครั้งเดียว) แต่บำนาญตกทอดในฐานะทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะเป็นคำในกฎหมายเดิม ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ใด้รับเงินประเภทนี้อยู่ 

 

 

ที่มา สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 2 เมษายน 2567

โพสต์เมื่อ 4 เม.ย. 2567 อ่าน 5620 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 192]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2708]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1082]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5614]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2425]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)