"เสมา1" ไม่รีบตั้งศึกษาธิการภาค มอบ "ปลัด ศธ." วิเคราะห์ภาระงานซ้ำซ้อนงานผู้ตรวจราชการหรือไม่



เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทบริหารสูงระดับ 10 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ จำนวน 9 ราย โดยมีการโยกย้ายศึกษาธิการภาค(ศธภ.) มาเป็นผู้ตรวจราชการศธ. 4 ราย คือ นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือ ศธภ. 7 นายชาตรี ม่วงสว่าง ศธภ. 15 นายชูสิน วรเดช ศธภ. 6 และว่าที่ร้อยตรีเจษฎาภรณ์ พรหนองแสง ศธภ. 17 มาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ นั้น จากการสอบถาม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ถึงการแต่งตั้ง ศธภ.มาทดแทนตำแหน่งว่าง ได้รับคำตอบว่าขณะนี้จะยังไม่มีการแต่งตั้งศธภ. พร้อมกันนี้ก็ได้มอบหมายให้ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของศธภ. รวมถึงดูภาระงาน เพื่อประเมินอัตรากำลังในภาพรวม ส่วนจะยุบศธภ.หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถบอกได้ ขอประเมินการทำงานในภาพรวมก่อนว่าที่ผ่านมา ศธ.ได้ตำแหน่งและอัตราเงินเดือนศธภ.มาจำนวน 12 อัตรา แต่มีการแต่งตั้งศธภ.แล้ว 6 อัตรา การทำงานแตกต่างกันกันตรงไหน และขณะนี้ก็ทราบว่าสำนักงานปลัดศธ.ในฐานะที่กำกับดูแลก็ได้ให้ผู้ตรวจราชการทำหน้าที่แทนศธภ.ในจังหวัดที่ไม่มี ศธภ.ดังนั้นจึงต้องมาดูบทบาทหน้าที่และความจำเป็น

“ผมได้มอบหมายให้ ดร.สุเทพ ไปวิเคราะห์การทำงานของศธภ.ที่ผ่านมา ว่า การมีศธภ. กับไม่มีศธภ. คุณภาพการทำงานเท่ากันหรือไม่ หากผลออกมาว่า เท่ากันก็ต้องตั้งคำถามว่า จำเป็นต้องมีศธภ.หรือไม่ โดยระหว่างนี้ให้รองศธภ. ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน อย่างไรก็ตามทุกตำแหน่งล้วนมีความสำคัญไม่ว่าจะเป็นศธภ. หรือศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)การจะดำเนินการอะไร ต้องวิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมาก่อนตัดสินใจ เพื่อประโยชน์ทางราชการ” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

 

ด้าน ดร.สุเทพ กล่าวว่า จากนี้ต้องไปวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของศธภ. และผู้ตรวจราชการศธ. ว่ามีประเด็นใดที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ หรือมีประเด็นใดที่เป็นบทบาทหน้าที่เฉพาะของแต่ละตำแหน่ง เพื่อนำมาวางแผนในเรื่องอัตรากำลังคน โดยต้องไปศึกษาข้อมูลตั้งแต่เริ่มมีศธภ. แล้วนำมาวิเคราะห์ ส่วนศธจ. ยังคงอยู่ เพราะถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ โดยที่ผ่านมามีการปรับบทบาท ตัดเรื่องการบริหารงานบุคคลออกไป และให้เน้นในเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในระดับจังหวัดแทน เช่น การจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด เป็นต้น ส่วนศธภ. 2 อัตรา ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ คือ ศธภ. 13 และศธภ. 8 ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง ส่วนจะปรับมาเป็นผู้ตรวจราชการศธ. หรือไม่นั้น เป็นเรื่องของอนาคต ขึ้นอยู่ที่ รมว.ศึกษาธิการจะตัดสินใจ และเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อยุบศธภ. เพราะทุกตำแหน่งมีความสำคัญ แต่เพื่อให้การทำงานในภาพรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หากวิเคราะห์แล้วพบว่า ภาระงานของศธภ. และผู้ตรวจราชการมีความซ้ำซ้อนกัน ก็อาจให้ผู้ตรวจราชการปฏิบัติหน้าที่ใน 2 มิติ คือ ทั้งติดตามการทำงานตามนโยบายของศธ. และการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 15 มกราคม 2567 

โพสต์เมื่อ 16 ม.ค. 2567 อ่าน 1301 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)