"รัชชัยย์" ร่อนจดหมายถึงนายกฯ เรื่อง ปัญหาของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.....



เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 เว็บไซต์ครูบ้านนอก.คอม ได้รับการเปิดเผยจาก ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา (ส.พ.บ.ค.) ว่า ตนได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ​​​​เรื่อง​ ปัญหาของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..... ​​​​​โดยมีเนื้อหา ดังนี้


​วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๖

เรื่อง​ ปัญหาของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..... ​​​​​
กราบเรียน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ​​​​​


ตามที่รัฐบาลได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..... เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และประกาศใช้เป้นกฎหมายต่อไป ความแจ้งแล้วนั้น
สมาคมพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา (ส.พ.บ.ค.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวทุกมาตราแล้วเห็นว่ารัฐบาลมีเจตนาดีที่จะขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมนาๆอารยประเทศ จึงมีหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองและผู้เรียนมาก อย่างไรก็ตามสมาคมได้ตรวจสอบร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นรายมาตราพบว่ามีสาระบางเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามกระบวนการร่างกฎหมาย และสาระบางเรื่องหากมีการประกาศใช้จะมีผลกระทบต่อการจัดการศึกษาจนถึงขั้นอาจจะทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ดังปรากฏรายละเอียดดังนี้

ข้อ ๑ มาตรา ๓ บัญญัติไว้มีสาระว่าให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ข้อ ๒ มาตรา ๔ ได้กำหนดนิยามศัพท์ต่างๆ แต่ไม่ปรากฏนิยามศัพท์ของคำว่า  “ศึกษานิเทศก์” แต่มีการบัญญัติสาระที่เกี่ยวกับ ศึกษานิเทศก์ ไว้ในร่าง พ.ร.บ. นี้หลายมาตรา จึงทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่าศึกษานิเทศก์ นั้นหมายถึงใคร เช่นไร เพราะ คำว่า “ศึกษานิเทศก์”ถูกยกเลิกไปโดยมาตรา ๓ ​​​​​​​​ - “ผู้บริหารการศึกษา” แต่มีการบัญญัติ ไว้ในมาตรา ๓๙ วรรคท้าย ของร่าง พ.ร.บ. นี้ จึงทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่า “ผู้บริหารการศึกษา” นั้นหมายถึงใคร เช่นไร เพราะ คำว่า “ผู้บริหารการศึกษา”ถูกยกเลิกไปโดยมาตรา ๓

ข้อ ๓ ร่าง พ.ร.บ.นี้ น่าจะมีเจตนาในการยกเลิกเขตพื้นที่การศึกษา แต่กลับไม่ได้กำหนดทิศทางในการจัดการศึกษาที่จะเป็นแนวทางในการเขียนไว้ในกฎหมายลูก ซึ่งแตกต่างจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ที่กำหนดไว้ขัดเจนในเรื่อง “เขตพื้นที่การศึกษา”

​ข้อ ๔ มาตรา ๘ ในทุกอนุมาตรามาตรา ควรเขียนกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการ ตัวอย่างเช่นใน “ช่วงวัยที่ ๑ ตั้งแต่แรกเกิดจนมีอายุครบหนึ่งปี ต้อได้รับการเลี้ยงดูให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ การพัฒนาทางอารมณ์ และการกระตุ้นการรับรู้ทางประสาทสัมผัสให้สามารถเรียนรู้ในการช่วยเหลือตนเองและสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ตามวัย” จากข้อกฎหมายนี้เห็นได้ว่าเป็นการบังคับให้บิดามารดาหรืทอผู้ใช้อำนาจปกครองมีหน้าที่ต้องทำ ดังนั้นหากบิดามารคาดหรือผู้ใช้อำนาจปกครองไม่ได้ทำตามที่กฎหมายนี้บัญญัติไว้ ก็อาจจะได้รับโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ...เช่นนั้นหรือไม่​

ข้อ ๕ มาตรา ๑๔ (๕) บัญญัติว่า “ในการบริหารจัดการสถานศึกษาแต่และแห่งให้ผู้บริหารสถานศึกษารับฟังความคิดเห็นของครู นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรในสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา นั้นด้วย”​​​​​​​​​​ กรณีนี้ต้องมีความชัดเจนว่า “การบริหารสถานศึกษา”นั้นคืออะไรบ้างที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา นี้และบางเรื่องถ้าต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด งานก็ไม่สามารถเดินได้

​ข้อ ๖ มาตรา ๑๔ (๖) สถานศึกษาต้องมีทรัพยากรการเรียนรู้อันได้แก่อุปกรณ์ที่จำเป็น ครูและกำลังคนที่เพียงพอ..... ​​​​​​​​​​กรณีนี้เห็นว่าควรกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการ ​

ข้อ ๗ มาตรา ๑๔ (๙) เรื่องการควบรวมโรงเรียนนั้นได้กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการนโยบาย ​​​​​​​​​ ​กรณีนี้เห็นว่าควรให้ท้องถิ่นมีส่วนรวมในการให้ข้อมูลและตัดสินใจ ​

ข้อ ๘ มาตรา ๑๕ (๑๑)บัญญัติว่า “ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้หน่วยงานของรัฐ สั่งการหรือมอบหมายกิจกรรมหรือโครงการใดๆอันจะทำให้ครูไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่หลักได้เต็มกำลังความสามารถหรือทำให้ผู้เรียนไม่มีเวลาเพียงพอในการเรียน ​​​​​​กรณีนี้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดียิ่ง อย่างไรก็ตามโรงเรียนของรัฐเกือบทุกแห่งอยู่ได้ด้วยการดูแลของวัด ชุมชน ท้องถิ่น หากโรงเรียนปฏิบัติตามมาตรานี้อย่างเคร่งครัด ก็จะอยู่ไม่ได้ แต่หากทำกิจกรรมใดที่เป็นการขัดหรือแย้งกับมาตรานี้ ผู้บริหารก็จะได้รับโทษตามวรรคท้ายของมาตรานี้ที่บัญญัติไว้มีสาระว่าหน่วยงานของรัฐใดไม่ปฏิบัติตามมาตรการตาม (๑๑) ให้ถือว่าหน่วยงานดังกล่าวละเว้นหรือจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ และให้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยด้วย ซึ่งเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับผู้บริหารโรงเรียนอย่างยิ่ง

ข้อ ๙ มาตรา ๑๖ บัญญัติไว้มีสาระว่าให้กระทรวงศึกษาดำเนินการให้สถานศึกษาของเอกชน....จัดให้ครูได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน เงินหรือสิทธิ์ประโยชน์อื่นใดให้สอดคล้องกับครูของสถานศึกษาของรัฐ ​​​​​​​​​​​กรณีนี้เห็นว่าควรกำหนดให้มีกฎหมายลูกเขียนให้ชัด ว่าจะให้สิทธิประโยชน์แก่ครูสถานศึกษาเอกชน อะไร อย่างไรบ้าง ​

ข้อ ๑๐ มาตรา ๒๓ กำหนดให้คณะกรรมการสถานศึกษา รับผิดชอบต่อคุณภาพของสถานศึกษา กรณีนี้ขอเรียนถามว่าการให้คณะกรรมการสถานศึกษารับผิดชอบต่อคุณภาพของสถานศึกษา นั้น มีความเป็นไปได้แค่ไหนอย่างไร ​

ข้อ ๑๑ มาตรา ๓๐ กำหนดให้มีระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุที่ใช้จากรายได้ของสถานศึกษาขึ้นเป็นการเฉพาะ สำหรับสถานศึกษา โดยระเบียบดังกล่าวต้องมีความยืดหยุ่น คล่องตัว โปร่งใสและก่อให้เกิดความเป็นอิสระแก่สถานศึกษา ​​​​​กรณีนี้ขอเรียนถามว่ากฎหมายข้อนี้ให้ใช้บังคับได้เฉพาะเงินรายได้สถานศึกษาเท่านั้นใช่หรือไม่ หากเป็นเงินอุดหนุนหรือเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร จะได้ประโยชน์จากมาตรานี้หรือไม่

ข้อ ๑๒ คำว่า “อาจารย์” และ “บุคลากรทางการศึกษา”ในมาตรา ๓๒ มีความหมายว่าอย่างไร เพราะไม่ปรากฏคำนี้ในนิยามศัพท์

ข้อ ๑๓ “บุคลากรทางการศึกษา” ที่บัญญัติไว้ในมารตรา ๓๓ หมายถึงใคร อย่างไร เพราะไม่ปรากฏคำนี้ในนิยามศัพท์

ข้อ ๑๔ มาตรา ๓๔ บัญญัติว่าผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครู ​​​​​​​​​​ กรณีนี้เห็นว่าควรบัญญัติให้บุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง และมีสิทธิ์ประโยชน์ใดๆเท่ากับครู เพราะเป็นบุคคลที่จะต้องผ่านการเคี่ยวกรำทั้งความรู้ความสามารถและการถูกปลูกฝังจิตวิญญาณของความเป็นครู

ข้อ ๑๕ มาตรา ๓๕ วรรคสาม บัญญัติว่า “คณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการกลุ่มสถานศึกษาต้องบริหารงานบุคคลตามกฎ....... กรณีนี้เห็นได้ว่าผู้ร่างฯมีเจตนาให้กรรมการสถานศึกษามีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลซึ่งหมายถึงข้าราชการครูในสถานศึกษานั้นๆ.....​​​กรณีนี้สมาคมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ให้อำนาจกรรมการสถานศึกษาเป็นผู้มีหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลในสถานศึกษา เพราะจะเกิดปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสถานศึกษาโดยจะทำให้หัวหน้าสถานศึกษาไม่สามารถบริหารงานได้เนื่องจากมีองค์กรอื่นซ้อนอยู่เปรียบเสมือนภาษิตที่เรียกว่า “ข้าหลายเจ้า บ่าวหลายนาย” และอาจเกิดปัญหาบุคคลในองค์กรไม่ฟังผู้บริหารสถานศึกษาแต่ไปเกาะเกี่ยวกับกรรมการสถานศึกษา มาตรานี้เป็นมาตราที่จะสร้างความเสียหายให้กับกระบวนการจัดการศึกษามากที่สุด ที่สำคัญคือไม่เคยปรากฏว่าหน่วยงานอื่นหรือกระทรวงอื่นได้ดำเนินการเยี่ยงนี้หรือไม่

​ข้อ ๑๖ มาตรา ๓๙ วรรคท้าย ได้บัญญัติไว้มีคำสำคัญว่า “ผู้บริหารการศึกษา” ซึ่งไม่สามารถทราบได้ว่าหมายถึงผู้ใดเพราะไม่ปรากฏในนิยามศัพท์ตามมาตรา ๔

​ข้อ ๑๗ มาตรา ๔๐ วรรคสี่ บัญญัติมีสาระสำคัญว่าให้คณะกรรมการสถานศึกษาสรรหาผู้บริหารสถานศึกษา ให้แก่สถานศึกษาเพื่อเสนอให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตามกฎ ข้อบังคับฯลฯ และมติที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลกำหนด ​​​​​​​​กรณีนี้สมาคมขอเรียนถามว่าแนวคิดเรื่องการให้คณะบุคคลภายนอกเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการระดับผู้บริหาร เช่นนี้ มีหน่วยงานใด องค์กรใดเคยนำไปใช้แล้วประสบความสำเร็จบ้าง ถ้าแนวคิดนี้เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองอย่างยิ่ง ก็ต้องนำไปใช้ในเรื่องการคัดเลือกนายอำเภอ คัดเลือกสรรพากรอำเภอ คัดเลือกผู้กำกับการสถานีตำรวจ คัดเลือก ผู้บังคับการทหารบกจังหวัดต่างๆ แนวคิดในเรื่องการให้คณะกรรมการสถานศึกษา สรรหา คัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา หากผ่านไปได้จะสร้างความเสียหายให้กับวงการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง​​

ข้อ ๑๘ มาตรา ๗๔ วรรคสี่ บัญญัติให้มีศึกษานิเทศก์ ในกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่จัดการศึกษา ​​​​​​​กรณีนี้ขอเรียนถามว่า “ศึกษานิเทศก์”หมายถึงใคร อะไร เพราะมาตรา ๔ ไม่ได้นิยามศัพท์คำว่า “ศึกษานิเทศก์” ไว้​

ข้อ ๑๙ มาตรา ๘๘ บัญญัติให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในเรื่องการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาในระดับประเทศ โดยมีภารกิจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๓ ถึง ๑๐ ข้อ ทั้งนี้คณะกรรมการโดยตำแหน่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงทุกกระทรวง​​​​​​​​​กรณีนี้ขอเรียนว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่จะมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา นั้น ประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจและมีประสบการณ์งานด้านการศึกษาเพียงคนเดียวเท่านั้นคือปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่เหลือคือบุคคลวิชาชีพอื่น จึงสรุปได้ว่าคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้ไม่มีความรู้ด้านการจัดการศึกษา ไม่มีประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษา ไม่ได้ผ่านการศึกษาหรือมีคุณวุฒิทางการศึกษา ยกเว้นปลัดกระทรวงศึกษาธิการเพียงรายเดียว เท่านั้น ดังนั้นหากนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการบริหารกองทัพโดยให้มีบอร์ดกองทัพที่มีบุคคลที่ประกอบวิชาชีพทหารเพียงคนเดียว บอร์ดที่เหลือไม่ได้เป็นทหาร อย่างนี้กองทัพจะมีความเข้มแข็งและมีพัฒนาการหรือไม่​

ข้อ ๒๐ มาตรา ๑๐๕ วรรคแรก บัญญัติไว้เป็นสาระสำคัญว่า “ในวาระเริ่มแรกไม่เกินห้าปี ให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำหน้าที่เป็นสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้” และ วรรคสามบัญญัติไว้ว่า “ในห้วงเวลาไม่เกินห้าปีให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาว่าสมควรจะจัดตั้งสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ หรือไม่ หากเห็นว่าไม่สมควรจัดตั้งก็ให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำหน้าที่เป็นสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ ​​​กรณีนี้ขอเรียนว่าหลักสูตรและการเรียนรู้ นั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการจัดการศึกษาที่ครูต้องนำไปใช้เป็นแนวทาง แต่กลับให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ดำเนินการทั้งๆที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นั้นมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในเรื่องหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เท่านั้น

ข้อ ๒๑ มีการบัญญัติให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ (มาตรา ๑๐๖) ​​​​​​​​กรณีนี้เชื่อได้ว่าเป็นการบัญญัติไว้เพื่อเตรียมการในการมอบอำนาจให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาครูในแต่ละจังหวัด เป็นการฟื้นคืนคำสั่ง คสช.ฉบับที่ ๑๙/๒๕๖๐ กลับคืนมา บริหารจัดการแบบควบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง (Single Command) เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง​

​จากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯฉบับนี้ เห็นได้ว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคือมีการให้อำนาจกรรมการสถานศึกษามากมายซี่งสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งในการทำให้การจัดการศึกษาล้มเหลวเพราะเป็นการมอบอนาคตทางการศึกษาไปอยู่ในมือของกรรมการสถานศึกษาซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการจัดการศึกษา ไม่ได้มีเวลาในการจัดการศึกษา ไม่มีทักษะและประสบการณ์ในการจัดการศึกษา และหากได้คนไม่ดีเข้ามาเป็นกรรมการสถานศึกษาก็จะทำให้เกิดการทุจริตในวงการศึกษาที่ไม่อาจควบคุมได้

จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวที่นำเรียนข้างต้น จึงขอความเมตตาจากนายกรัฐมนตรีขอได้โปรดดำเนินการให้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ฉบับนี้ออกไปปรับปรุงเพื่อให้เป็นกฎหมายการศึกษาที่มุ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง เสียก่อนแล้วจึงนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ต่อไป อันจะเป็นคุณูปการต่อการศึกษาของชาติบ้านเมืองสืบต่อไป

​จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

​​​​นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณนายกสมาคม
โทรท ๐๘๓-๒๖๕๒๖๙๓

 

 

 

โพสต์เมื่อ 21 ม.ค. 2566 อ่าน 3912 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)