ศธภ.-ศธจ.บุกศธ.ขอความเป็นธรรม "ตรีนุช" ปมยุบสำนักงานฯ



ศธภ.-ศธจ.บุกศธ.ขอความเป็นธรรม "ตรีนุช" ปมยุบสำนักงานฯ มั่นใจที่ผ่านมาบริหารงานมีเอกภาพ วอนเร่งดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯให้สำเร็จ ส่วนการปรับโครงสร้างศธ.ให้ไปทำในกฎหมายลูกแทน

เมื่อเวลา 08.30 น. ที่หอประชุมคุรุสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะปกป้องศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ประมาน 100 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึ งน.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เรื่องขอความอนุเคราะห์ให้มีสำนักงานศึกษาธิการภาคและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดในโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมหารือแนวทางการเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ ศธ. ร่วมกับผู้บริหาร ศธ. จากนั้นจะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเดินทางไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา ถึงนายตวง อันธะไชย ประธานกรรมาธิการฯ

ด้าน นายณัทชัย ใจเย็น ศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี ในฐานะตัวแทนคณะปกป้อง ศธภ.และ ศธจ. กล่าวว่า พวกเราต้องการให้กำลังใจ น.ส.ตรีนุช ในการที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..ให้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่จะทำให้การศึกษาชาติมีระบบมากขึ้น โดยในส่วนของ ศธภ.และ ศธจ.ได้มีข้อเสนอที่จะสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวและการศึกษาในระดับพื้นที่ให้เข้มแข็งได้อย่างไรบ้าง สำหรับประเด็นที่คณะกรรมการธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..ได้พิจารณาลงมติเสียงข้างมากเห็นชอบร่างมาตรา 3 ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งมีคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 เรื่องปฎิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเร็ว ๆ นี้นั้น พวกเราก็รับฟังและติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด แต่พวกเรามั่นใจว่า ศธภ.และ ศธจ.ได้ทำหน้าที่จัดการศึกษาภายในจังหวัดได้อย่างมีเอกภาพแน่นอน ทั้งนี้ ศธภ.ถือเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาจากหน่วยกลางลงสู่ภาคและจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการกำกับติดตามงานอย่างใกล้ชิด ทำให้หน่วยงานในระดับพื้นที่สนองนโยบายต่าง ๆ ได้เร็ว ขณะที่ ศธจ.เป็นหน่วยงานที่ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการศึกษาของ ศธ.แบบเดิมในส่วนภูมิภาค จากการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งในเชิงการดำเนินงานและการบริหารจัดการ เนื่องจากในจังหวัดหนึ่งมีสถานศึกษาทั้งในและนอกสังกัดศธ.จำนวนมาก รวมถึงประเด็นสำคัญการบริหารงานบุคคลของข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาในการสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง และโยกย้าย โดยใช้กลไกของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดสามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส สุจริต และเป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล

ขณะที่ นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะโฆษก ศธ. กล่าวว่า ตนได้เรื่องร้องเรียนจากกลุ่ม ศธจ. ศธภ.แล้ว ซึ่งเท่าที่หารือร่วมกันพบว่ากลุ่มดังกล่าวต้องการมาผลักดันเรื่อง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. ให้ประสบผลสำเร็จตามเจตนารมย์ของการปฎิรูปการศึกษา โดยในส่วนของการปรับโครงสร้างศธ.นั้นอยากให้อยู่ในการจัดทำกฎหมายลูกตามลำดับต่อไปมากกว่า ซึ่ง น.ส.ตรีนุช  เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ได้รับทราบเรื่องนี้แล้ว และมอบหมายให้สป.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บูรณาการแก้ปัญหาทำความเข้าใจร่วมกัน 


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันที่ 2 พฤษภาคม 2565

 

‘ศธภ.-ศธจ.’เดินสายยื่นหนังสือ‘นายกฯ-ตรีนุช’ ดันร่างพรบ.การศึกษาชาติ ให้คงสถานะ

2 พ.ค.65 กลุ่มคณะศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศรวมตัวกัน 100 คน บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล นำโดยนายณัทชัย ใจเย็น ศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ เป็นตัวแทนมารับหนังสือ และทางกลุ่มได้มอบดอกกุหลาบให้กำลังใจด้วย


ขอบคุณภาพจาก แนวหน้า

นายณัทชัย กล่าวว่า วันนี้ได้มายื่นหนังสือเพื่อให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษาแห่งชาติได้สำเร็จ เพื่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศให้มีคุณภาพและเป็นเอกภาพ ที่กำลังดำเนินการอยู่ใกล้จะไปกับความสำเร็จ ซึ่งการทำงานด้านการศึกษาในแต่ละจังหวัดและแต่ละภาคมีหลายหน่วยงาน ด้านการศึกษา รวมถึงกระทรวงเกี่ยวกับการศึกษาอื่นด้วยนอกจากกระทรวงศึกษาธิการ จึงจำเป็นที่ต้องมีศึกษาธิการจังหวัดเป็นโซ่ข้อกลางหรือเซ็นเตอร์ในการบูรณาการประสานงานให้การทำงานด้านการศึกษาในพื้นที่เป็นเอกภาพ ยืนยันว่าหน่วยงานการศึกษาและศึกษาธิการจังหวัดศึกษาธิการภาค การทำงานไม่ได้ทับซ้อนกัน ส่วนดราม่าในโซเชียลที่ต้องการให้ยุบศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาคนั้น มองว่าคนอาจจะไม่รู้ว่าศึกษาธิการจังหวัดทำอะไรบ้างเพราะไม่ได้ประชาสัมพันธ์และทำงานโดยไม่ได้พูดบอกใคร

นายณัทชัย ยังฝากถึงกรรมาธิการให้เล็งเห็นความสำคัญของศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกันกับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดมีผู้ทรงคุณวุฒิภาคส่วนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้การศึกษามีคุณภาพและเป็นเอกภาพมากขึ้น หากถูกยกเลิกศึกษาธิการจังหวัดไปผลเสียจะมากกว่าผลดีความเป็นเอกภาพในพื้นที่การทำงานก็จะเกิดความล่าช้า ทั้งนี้หากมีการเดินหน้ายกเลิกคำสั่งคสช. ที่ 19/2560 ยกเลิกศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการภาคจะส่งผลกระทบต่อข้าราชการและพนักงานราชการทันที ประมาณ 2,300 คน ซึ่งข้าราชการยังสามารถโยกไปทำงานส่วนอื่นได้ไม่ตกงาน แต่พนักงานราชการนั้นจะส่งผลให้ตกงานทันที กว่า 1,000 คน.


ขอบคุณภาพจาก แนวหน้า

นอกจากนี้ยังได้เดินทางมายื่นหนังสือดังกล่าว พร้อมมอบกุหลาบแดงให้กำลังใจ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) โดย มีนายวีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ.ในฐานะโฆษก ศธ. เป็นผู้รับเรื่องแทน

นายวีระ กล่าวว่า ตนจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้ รมว.ศธ.​ พิจารณาต่อไป ซึ่งจากการรับฟังข้อมูลทาง ศธภ.และ ศธจ. อยากให้ ศธ.ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้เสร็จโดยเร็ว แต่มีข้อท้วงติงอยู่บ้าง คือ กมธ.วิสามัญฯ ควรจะเร่งพิจารณา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ให้เสร็จก่อน ส่วนโครงสร้างของ ศธ. ควรไปกำหนดในกฎหมายฉบับอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.บริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น เพราะหากพิจารณาเรื่องอื่นๆ ในช่วงนี้ อาจจะเกิดความขัดแย้ง และจะทำให้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ สะดุด

“ผมมองว่าการยุบหรือไม่ยุบ ศธภ.และศธจ. ควรจะกำหนดใน พ.ร.บ.บริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งผมคิดว่า ศธภ.และศธจ.ยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะเป็นหน่วยงานที่บูรณาการงานกับหน่วยงานการศึกษาทั้งหมดในระดับจังหวัดให้มาทำงานเชื่อมโยงกันได้ และตั้งแต่มี ศธจ.ทำให้การทำงานระดับจังหวัดราบรื่นขึ้น” นายวีระ กล่าว


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

โพสต์เมื่อ 2 พ.ค. 2565 อ่าน 4373 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)