กรรมการปฏิรูปฯ การศึกษา ชูกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ 5 สเต็ป กระตุ้นสร้างแอคทีฟเลิร์นนิ่ง ตั้งเป้าเด็ก ป.1-ม.6 ยุคใหม่สร้างนวัตกรรมได้



“ดร.ศักดิ์สิน” กรรมการปฏิรูปฯ การศึกษา ชูกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ 5 สเต็ป กระตุ้นสร้างแอคทีฟเลิร์นนิ่ง ตั้งเป้าเด็ก ป.1-ม.6 ยุคใหม่สร้างนวัตกรรมได้

กรุงเทพฯ 7 ธันวาคม 2564 – ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ชูโมเดลการคิดขั้นสูงเชิงระบบ 5 ขั้น (GPAS 5 Steps) เน้นกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลินนิ่ง พร้อมทั้งเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1.แสวงหาข้อมูลรอบด้านเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ 2.คิด-วิเคราะห์-สรุปความรู้เพื่อวางแผนเตรียมปฏิบัติ 3.ลงมือทำจริง แก้ปัญหาจริง เพื่อพัฒนาหาแนวทางที่ดีที่สุด 4.สื่อสารและนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย 5.สร้างคุณค่าให้ผลงาน ต่อยอดประโยชน์สู่สังคม สอดคล้องกับแผนปฏิรูปฯ การศึกษาบิ๊กร็อคที่ 2 ซึ่งมีเป้าหมายให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะความสามารถที่คงทนผ่านการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ผลสำเร็จจาก 30 โรงเรียนต้นแบบ พบว่าเด็กนักเรียนในช่วงชั้น ป.1-ป.6 สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมกว่า 1,800 นวัตกรรม และคาดว่าจะมากขึ้นในปีการศึกษาต่อไป

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า การปฏิรูปการศึกษาต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านประชากร ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้และรูปแบบการเรียนการสอน มาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Active Learning) ที่เน้นการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและสนับสนุนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ ผ่านการพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ (GPAS) โดย คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้วางกรอบนโยบายปฏิรูปการศึกษา เรื่องการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 (บิ๊กร็อคที่ 2) ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ 5 ขั้น (GPAS 5 Steps) มีสาระสำคัญ ดังนี้

 · แสวงหาข้อมูลรอบด้านเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ (Gathering) ผู้เรียนเกิดการสังเกต หรือตั้งข้อสงสัยในปัญหาจากการกระตุ้นของครูผู้สอนผ่านกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น การสร้างสถานการณ์เพื่อฝึกให้ผู้เรียนตั้งคำถามกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้ผู้เรียนต้องการหาคำตอบด้วยตัวเองด้วยการสืบค้นความรู้จากแหล่งข้อมูลรอบตัว

· คิด-วิเคราะห์-สรุปความรู้เพื่อวางแผนเตรียมปฏิบัติ (Processing) ผู้เรียนนำข้อมูลหรือองค์ความรู้ที่รวบรวมได้มาร่วมกันวิเคราะห์ ว่าจะสามารถนำไปแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร จากนั้นจึงจัดจำแนกข้อมูล และนำไปวางแผนการปฏิบัติ เช่น การคิดสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน

· ลงมือทำจริง แก้ปัญหาจริง เพื่อพัฒนาหาแนวทางที่ดีที่สุด (Applying 1) ผู้เรียนนำองค์ความรู้ที่ผ่านการวิเคราะห์และวางแผนแล้วไปปฏิบัติและลงมือทำ โดยจะเกิดการเรียนรู้จากการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการปฏิบัติจริง การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาให้เกิดผลสำเร็จที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

· สื่อสารและนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย (Applying 2) ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานและการแก้ปัญหา จนสามารถสรุปออกมาเป็นหลักการ สื่อสารผ่านการนำเสนอในรูปแบบแผนภาพความคิด นำเสนอเป็นรายงาน การอภิปราย การบรรยาย หรือจัดทำเป็นสื่อต่างๆ

· สร้างคุณค่าให้ผลงาน ต่อยอดประโยชน์สู่สังคม (Self-Regulating) ผู้เรียนมีจิตสาธารณะและเห็นคุณค่าในผลงาน สามารถขยายผลหรือต่อยอดองค์ความรู้นั้น เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือแก้ไขปัญหาสังคมในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงกับบริบทของแต่ละชุมชน

ทั้งนี้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning คือ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ มีสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้ การออกแบบการเรียนรู้ รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่คงทนผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลาย มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการเรียนรู้ เกิดความกระตือรือร้นที่จะใฝ่รู้ สามารถใช้องค์ความรู้ผลิตผลงานหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้

“อย่างไรก็ตาม การปรับการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบดังกล่าว ผ่านการพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบที่ประสบผลสำเร็จแล้วอย่างมากในประเทศไทย คือ โรงเรียนต้นแบบในภาคเหนือจำนวน 30 โรงเรียน อาทิ โรงเรียนสระแก้ว โรงเรียนเทศบาล 1 (หนองกะพ้ออนุสรณ์) โรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ โดยมีนักเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถสร้างนวัตกรรมกว่า 1,800 นวัตกรรม แบ่งออกเป็น นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ นวัตกรรมเชิงวัฒนธรรม นวัตกรรมเชิงอุตสาหกรรม และนวัตกรรมเชิงบริการ โดยคาดว่าในปีการศึกษาต่อไปจะต้องเกิดนวัตกรรมจากเด็กในช่วงวัยดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 3,000 นวัตกรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการขยายผลไปยังพื้นที่ภูมิภาคอื่นๆ ให้ครอบคลุมสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการยกระดับคุณภาพการศึกษา ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาต่อไป” ดร.ศักดิ์สิน กล่าวสรุป

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22  

โพสต์เมื่อ 10 ธ.ค. 2564 อ่าน 14419 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาและเลือกสรรเป็นพนักงานราชการทั่วไป ตำแหน่งครูผู้สอน จำนวน 3 อัตรา [อ่าน 528]
"สหพัฒน์แอดมิชชั่น" ครั้งที่ 27 พร้อมแล้ว "ติวสด" 12 วิชา 6 วันติด 7-12 ตค. นี้ ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ [อ่าน 225]
สพป.สกลนคร เขต 1 ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาพนักงานราชการ ตำแหน่งครูผู้สอน 1 อัตรา 1 วิชาเอก [อ่าน 1188]
หลักสูตรท้องถิ่น กับการปฏิรูปการศึกษาไทย แนวทางกระจายอำนาจให้โรงเรียนได้ออกแบบ และมีส่วนร่วม [อ่าน 243]
สพฐ. จับมือ EduPLOYS ลงนาม MOU หนุนจัดแข่งขัน บอร์ดเกมเพื่อการศึกษา ส่งเสริมกีฬาทางปัญญา [อ่าน 597]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)