"รัชชัยย์" ยื่น 8 ข้อเสนอแนะในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่อประธานบอร์ด กพฐ. คนใหม่



นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา แห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยกับครูบ้านนอกดอทคอม ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ทำข้อเสนอแนะในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เสนอต่อ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
 
เรื่อง ข้อเสนอแนะในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน​ ​​​​​

เรียน ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์)

ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย ขอแสดงความยินดีที่ท่านได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชมรมฯเชื่อว่าด้วยความรู้ความสามารถของท่านพร้อมด้วยศักยภาพของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะทำให้การศึกษาในระดับขั้นพื้นฐานเจริญงอกงามทัดเทียมนานาอารยประเทศแน่นอน การที่ท่านได้แสดงความคิดเห็นและให้สัมภาษณ์ในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญยิ่งคือ “โรงเรียนขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องยุบควบรวมทั้งหมด/ ครูส่วนใหญ่ไม่ได้ทำหน้าที่สอนอย่างเดียว หากมีการดึงเอาเจ้าหน้าที่จากเขตพื้นที่การศึกษา เข้ามาช่วยงานธุรการก็จะทำให้ครูมีเวลาเตรียมการสอนและอยู่กับเด็กมากขึ้น” การให้สัมภาษณ์ครั้งแรกของท่านนั้นแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและรับรู้ข้อมูลปัญหาของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างดี ทำให้เกิดความหวังที่จะเห็นการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยได้รับการเยียวยาเพื่อรุดไปข้างหน้าอย่างน้อยให้มีคุณภาพเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศกลุ่มอาเซี่ยน อย่างไรก็ตาม ที่ท่านมีดำริที่จะขอให้เจ้าหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษามาช่วยงานธุรการของโรงเรียนนั้น ชมรมฯขอเรียนว่าบรรดาเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาล้วนแล้วแต่มีภาระงานล้นมือเพราะจะต้องทำงานด้านการสนับสนุนการจัดการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดหลายสิบโรงเรียน อนึ่ง ชมรมฯขอนำเรียนให้ท่านได้กรุณาทราบปัญหาที่เป็นเชิงประจักษ์และยังไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขจนส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาดังนี้​

๑. ขณะนี้เกือบทุกโรงเรียนไม่มีนักการภารโรง ดังนั้นโรงเรียนที่ไม่มีงบประมาณในการจ้างนักการภารโรง คุณครูก็จะต้องช่วยกันล้างส้วมให้นักเรียน ตัดหญ้า กวาดพื้น ซ่อมแซมครุภัณฑ์กันเอง ฯลฯ เป็นต้น การไม่จัดสรรงบประมาณการจ้างนักการภารโรงนั้นมีผลกระทบอย่างมากมายต่อโรงเรียนและการจัดการเรียนการสอนของครู​​​​​​​​​​​

๒. ทุกวันนี้ครูยังต้องทำหน้าที่อื่นอีกมากมายที่นอกเหนือจากงานสอนจนทำให้คุณภาพการศึกษาตกต่ำลงมาก จึงขอให้ครูสอนหนังสือและดูแลนักเรียนอย่างเต็มที่เพียงอย่างเดียวได้หรือไม่ เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมาครูมีหน้าที่สอนและดูแลนักเรียนเพียงอย่างเดียว ไม่มีงานอะไรมารบกวน คุณภาพการศึกษาไทยยุคนั้นนำหน้าประเทศเกาหลีใต้และอีกหลาย ประเทศ ​​​​​​​​

๓. ขอให้คืนเกียรติและศักดิ์ศรีให้ครูอัตราจ้าง โดยให้งดเรียกครูอัตราจ้างว่า “ลูกจ้างชั่วคราว” โปรดคืนศักดิ์ศรีความเป็นครูให้ท่านเหล่านั้น เพราะครูอัตราจ้าง มิได้มาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างของใคร แต่มาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “ครู” และควรกำหนดเส้นทางความก้าวหน้าให้ครูอัตราจ้างได้รับการบรรจุเข้ารับราชการด้วยวิธีที่เหมาะสมและเป็นธรรม ​​​

๔. ปรับเปลี่ยนระบบการมีและเลื่อนวิทยฐานะที่ไม่มีการสร้างเอกสารอย่างแท้จริง ทั้งนี้ครูจะได้ไม่ทิ้งเด็กมาสร้างเอกสารเพื่อรอรับการประเมิน ควรประเมินตามสภาพจริงของพัฒนาการของนักเรียน ผู้ประเมินควรเป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่ในโรงเรียนและรับรู้การเปลี่ยนแปลงของนักเรียนในทางพัฒนา

​​​๕. เพิ่มระบบการเลื่อนวิทยฐานะเป็นแบบเลื่อนไหลตามอายุราชการเหมือนระบบของทหารที่เลื่อนไหลจากชั้น “ร้อยตรี” ไปจนถึงชั้น “พันเอก” โดยไม่ต้องทำผลงานทางวิชาการใดๆ ​​​​

๖. นักเรียนจากโรงเรียนทหาร โรงเรียนตำรวจ เมื่อเรียนจบมาแล้วก็สามารถรับราชการทหาร ตำรวจ ได้เลย ดังนั้นนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันผลิตครูก็ควรจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้เลยทันที พร้อมใบปริญญาบัตร

๗. ควรสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐเปิดสอนระดับสูงกว่าปริญญาตรีในวันเสาร์ อาทิตย์ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ครูได้ไปศึกษาต่อในสาขาที่ตรงกับวิชาเอกที่สอนเพื่อนำความรู้ไปพัฒนานักเรียน และยังเป็นการแก้ปัญหาครูที่สอนเก่งๆหนีไปเป็นผู้บริหารกันหมด เพราะสาขาบริหารการศึกษามีเปิดสอนในระดับสูงกว่าปริญญาตรี ในวันเสาร์อาทิตย์ เกือบทุกสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา​​​​

๘. ปัญหาใหญ่อีกหนึ่งปัญหาคือ เกณฑ์การคำนวณอัตรากำลังครูในโรงเรียนมัธยมศึกษาได้มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๔ ส่งผลให้อัตรากำลังครูโรงเรียนมัธยมศึกษาถูกลดลง อัตรากำลังครูที่เกษียณอายุราชการไม่ได้คืน บางโรงเรียนอัตรากำลังหายไปมากกว่า ๓๐ อัตรา ครูอัตราจ้างถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก แต่เกิดผลดีกับโรงเรียนประถมศึกษาที่ได้อัตรากำลังเพิ่ม โรงเรียนที่อัตรากำลังขาดแคลนก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการให้ครูสอนไม่ตรงวิชาเอกดังนั้นคุณภาพการศึกษาย่อมมีปัญหาแน่นอน​​​ยังมีอีกหลายประเด็นที่จะนำเรียนเสนอในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ชมรมฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในยุคสมัยที่ท่านเป็นประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่เกิดประโยชน์กับชาติบ้านเมืองมากที่สุดต่อไป

ขอแสดงความนับถือ
นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ
ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา แห่งประเทศไทย
โทร 0832652693

 

โพสต์เมื่อ 10 พ.ย. 2564 อ่าน 6578 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 190]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2705]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1081]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5602]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2424]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)