กรมบัญชีกลางกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลเกินสิทธิ เริ่ม 3 พ.ค. 64



 

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่กรมบัญชีกลางพัฒนาระบบเบิกจ่ายตรง ค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก โดยให้ผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวใช้บัตรประชาชนยื่นใช้สิทธิที่สถานพยาบาลของทางราชการ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นมานั้น กรมบัญชีกลางตรวจสอบพบว่า ผู้มีสิทธิและบุคคล ในครอบครัวจำนวน 24 ราย มีพฤติกรรมใช้สิทธิระบบเบิกจ่ายตรงผิดปกติ โดยเข้ารับบริการในสถานพยาบาลหลายแห่งระยะเวลาใกล้เคียงกัน หรือมีการเข้ารับบริการเกิน 3 สถานพยาบาลต่อเดือนด้วยโรคเดียวกัน อีกทั้งได้รับยาประเภทเดียวกัน จนมีปริมาณยาสะสมจำนวนมาก คิดเป็นเงินจำนวน 15,808,631.70 บาท ซึ่งกรมบัญชีกลางได้ระงับสิทธิของบุคคลดังกล่าวทุกรายโดยทันทีที่ตรวจสอบพบ พร้อมนี้เพื่อควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง กรมบัญชีกลางจึงกำหนดหลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลเกินสิทธิและการเรียกคืนเงิน ดังนี้

ผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว
เข้ารับการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก ณ สถานพยาบาลของทางราชการแห่งเดียวหรือหลายแห่ง หรือได้รับยาประเภทเดียวกันจนมีปริมาณยาสะสมเป็นจำนวนมาก เกินขนาดที่ให้ผลการรักษาในแต่ละโรค (Therapeutic Dose) หรือเกินกว่าจำนวนที่กรมบัญชีกลางกำหนด ถือเป็นการใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเพื่อเบิกค่ารักษาพยาบาลเกินสิทธิ

มีพฤติกรรมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงผิดปกติ กรมบัญชีกลางจะดำเนินการระงับสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงทันที และหากเข้าข่ายทุจริตหรือการกระทำความผิดทางอาญา หน่วยงานต้นสังกัดต้องดำเนินการทางวินัยหรือตามขั้นตอนของกฎหมายและเรียกคืนเงินจากผู้มีสิทธิส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน แต่หากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเป็นการทุจริต กรมบัญชีกลางจะอนุญาตให้สามารถใช้สิทธิในระบบเบิกจ่ายตรงประเภทผู้ป่วยนอก ณ สถานพยาบาลของทางราชการเพียง 1 แห่ง เพื่อเป็นการควบคุมพฤติกรรม

สถานพยาบาลของทางราชการ
เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวในระบบเบิกจ่ายตรง โดยไม่ปรากฏข้อมูล ในเอกสารว่า มารับบริการจริง ส่วนราชการต้นสังกัดต้องดำเนินการตรวจสอบ หากปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีพฤติกรรมทุจริตโดยใช้ระบบเบิกจ่ายตรงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ส่วนราชการต้นสังกัดต้องดำเนินการสอบสวน ทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าว และเรียกคืนเงินจากสถานพยาบาลของทางราชการแห่งนั้น

ส่วนราชการต้นสังกัด
มีหน้าที่ติดตามเรียกคืนเงินที่เบิกเกินสิทธิจากผู้มีสิทธิ และนำเงินส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน หากไม่สามารถเรียกคืนเงิน ต้องมีการบังคับชำระหนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แล้วนำเงินส่งคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

“หลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลเกินสิทธิและการเรียกคืนเงิน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02 127 7000 ต่อ 4366 หรือ Call center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 ในวัน เวลาราชการ” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว
 

ที่มา กรมบัญชีกลาง วันที่ 22 เมษายน 2564

 

โพสต์เมื่อ 24 เม.ย. 2564 อ่าน 6115 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2713]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1085]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5645]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2430]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)