บอร์ด กพฐ. เผยผลวิจัยพบ ผอ.โรงเรียนยังขาดความเป็นผู้นำทางวิชาการอย่างชัดเจน



19ก.พ.64-นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุม กพฐ.ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงงานวิจัยของมูลนิธิ The Asia Foundation ที่สำรวจกลุ่มผู้อำนวยการโรงเรียนกลุ่มสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 189 คน และผู้อำนวยการโรงเรียน สังกัด กรุงเทพมหานคร 85 คน รวม 274 คน พบว่า ปัญหาผู้อำนวยการโรงเรียนยังขาดความเป็นผู้นำทางวิชาการอย่างชัดเจน อีกทั้งยังเข้าใจว่า การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติชั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต คือ การแสดงผลงานวิชาการ การที่นักเรียนเข้าร่วมประกวดและได้รางวัล ถือเป็นผลงานวิชาการของโรงเรียน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผลงานวิชาการ คือ เรื่องการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาสภาพแวดล้อมต่างๆ โดยเรื่องนี้ที่ประชุมมองว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาความเป็นผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่อยู่ระหว่างการยกร่างเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งใหม่

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงเรื่องการประเมินและประกันคุณภาพโรงเรียน ว่า จากนี้ สพฐ.และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จะร่วมมือทำงานในเชิงบูรณาการ โดยโรงเรียน สพฐ.ก็จะสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ตามบริบทของแต่ละโรงเรียน และ สมศ.ก็จะทำหน้าที่ประเมินในสิ่งที่โรงเรียนประกันคุณภาพไว้ ว่า ทำได้หรือไม่ ต้องแก้ไขในจุดใด ช่วยกันพัฒนา และต้องมีการนำผลการประเมินโรงเรียนส่งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อที่จะนำผลการประเมินนั้นไปสู่การได้รับสนับสนุน และแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงการประเมินแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงเรื่องการเรียนออนไลน์ ว่า จะต้องมีการทำให้ชัดเจนและสามารถเรียนออนไลน์ได้จริง หรือ ทำเป็นแนวความรู้เสริมจากบทเรียนในเด็กได้เข้าไปศึกษาได้ เพราะในอนาคตการเรียนการสอนจะมุ่งไปสู่รูปแบบผสมผสานอย่างแน่นอน

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ตนได้เสนอที่ประชุม ว่า การขับเคลื่อนการศึกษาต่อจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยจะต้องบูรณาการกัน ไม่ใช่จัดการศึกษาแข่งกัน เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีความพร้อมเรื่องการจัดการศึกษาระดับปฐมวัยอย่างมีคุณภาพ ก็ให้ อปท.เป็นผู้จัด และเมื่อถึงระดับประถมศึกษา สพฐ.มีความสามารถในการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพก็ให้ สพฐ.เป็นผู้จัดการศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีโรงเรียนประถมศึกษาหลายแห่ง เปิดเป็นโรงเรียนขยายโอกาส แต่มีจำนวนนักเรียนเด็กมัธยมศึกษาไม่ถึง 20 คน ดังนั้นตนจึงมองว่าการจัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ควรที่จะเป็นหน้าที่ของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาที่มีความพร้อม และความเชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการจัด

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 

โพสต์เมื่อ 20 ก.พ. 2564 อ่าน 16838 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)