"อัมพร" ห่วงครูให้งานเด็กเยอะช่วงเรียนออนไลน์



เมื่อวันที่ 4 ม.ค. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมด้วยผู้บริหารรับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ณ โรงเรียนสตรีวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 1 โดยมี นางสุภาษี ธรรมาธคม ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา รายงานการจัดการเรียนการสอน โดยนายอัมพร เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมว่า ขณะนี้มีโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ปิดการเรียนการสอนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 จำนวน 2,958 แห่ง ใน 84 เขตพื้นที่การศึกษา ครอบคลุมใน 44 จังหวัด โดยในระหว่างนี้จะมีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ จัดการเรียนการสอนผ่านระบบ DLTV และเรียนผ่านใบงานที่ครูได้จัดให้ ส่วนในจังหวัดที่ยังไม่พบการระบาดในขณะนี้ หากพบการระบาดเกิดขึ้นให้อำนาจผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาสามารถบริหารจัดการในพื้นที่ได้ทันที โดยยึดมาตรการด้านสาธารณสุข ประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละแห่ง และความปลอดภัยของนักเรียนเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า จากการตรวจเยี่ยมขอชื่นชมการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ และระบบออนแอร์ ที่พบว่าโรงเรียนจัดได้ดีในส่วนของการสอนออนไลน์ โดยมีการออกแบบการสำรวจอุปกรณ์ความพร้อมของโรงเรียน นักเรียน และผู้ปกครอง ซึ่งพบว่านักเรียนส่วนใหญ่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ โดยมีครูผู้สอนออกแบบตารางการเรียนพร้อมทั้งจัดหาช่องทางในการสื่อสารกับนักเรียน และจากการสำรวจความสำเร็จพบว่าครูใช้ช่องทางในการสอนหลายช่องทาง เช่น การสอนในห้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ และผ่านช่องทางยูทูป อีกทั้งยังมีการสั่งงานและส่งงานผ่านระบบไลน์ และอีเมล โดยกำหนดให้นักเรียนเข้าห้องเรียนออนไลน์ผ่าน Google Classroom ตามรายวิชาในระดับชั้นของตนเอง โดยการใช้รหัสการเข้าร่วมชั้นเรียน ให้นักเรียนศึกษาค้นคว้า หรือปฏิบัติด้วยตนเอง ตามที่ครูผู้สอนกำหนดเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการนับเวลาเรียนในการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ของแต่ละรายวิชาเป็นไปตามเวลาเรียนตามตารางเรียนของนักเรียน รวมถึงให้นักเรียนทำแบบประเมินความพึงพอใจในการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ในแบบประเมินที่โรงเรียนกำหนด สำหรับกรณีนักเรียนมีปัญหาในการเรียนออนไลน์ เช่น ด้านการเรียน ด้านอุปกรณ์หรือเครื่องมือในการเรียน สามารถแจ้งปัญหาได้ที่ ครูที่ปรึกษาหรือครูประจำวิชา เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

“เราพยายามให้การศึกษาเดินต่อไปได้ เพราะหากแม้นักเรียนจะไม่ได้มาโรงเรียนก็ไม้ได้หมายความว่าการศึกษาจะต้องหยุดไปด้วย ขณะที่การเรียนการสอนออนไลน์ก็มีความสำเร็จและเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามยังคงพบปัญหาและอุปสรรคอยู่มาก เช่น การมอบหมายงานให้กับนักเรียนที่ค่อนข้างมาก และนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเรียนและความพร้อมของสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้จะมีการปรับแก้ไขการให้งานนักเรียนด้วยความเหมาะสมตามสภาพบริบท รวมถึงนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และการเข้าเรียน ก็จะมีการสอนซ่อมเสริมให้นักเรียนกลุ่มดังกล่าวได้มีโอกาสเรียน และมีงานส่งเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ผมจะประชุมหารือแนวนโยบายร่วมกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ในรูปแบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) ในวันที่ 6 ม.ค.นี้ เวลา 09.00 น. เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนการดำเนินการอีกครั้ง และอยากให้ผู้ปกครองมีความมั่นใจในมาตรการจัดการเรียนการสอนต่าง ๆ ของ สพฐ. ซึ่งจะยึดถือความปลอดภัยและสุขภาพของนักเรียนเป็นสำคัญ และ สพฐ.จะมีมาตรการเรื่องการเรียนการสอนที่มีคุณภาพออกมาอย่างแน่นอน” นายอัมพร กล่าว.

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เพจ At_HeaR วันที่ 4 มกราคม 2564 

โพสต์เมื่อ 5 ม.ค. 2564 อ่าน 4230 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)