จดหมายเปิดผนึก ถึง เลขาธิการ ก.ค.ศ. เรื่อง การปรับเปลี่ยนเกณฑ์การคำนวณอัตรากำลังครู : นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ



เรื่อง การปรับเปลี่ยนเกณฑ์การคำนวณอัตรากำลังครู
เรียน เลขาธิการ ก.ค.ศ.

ตามที่สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้มีหนังสือแจ้งว่า ก.ค.ศ.ได้มีมติที่สำคัญคือให้มีการให้ยกเลิกเกณฑ์การคำนวณอัตรากำลังเดิมแล้วให้มีการกำหนดเกณฑ์การคำนวณอัตรากำลังใหม่โดย ใช้เกณฑ์ จำนวนห้องเรียน คูณด้วย จำนวนชั่วโมงเรียนตามหลักสูตรต่อสัปดาห์แล้วหารด้วย ชั่วโมงปฏิบัติงานของครู (1 คน) ต่อสัปดาห์ (20 ชั่วโมง) นั้นกระผมเห็นว่าการกำหนดเกณฑ์เช่นนี้ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาเป็นอย่างยิ่งเพราะเกณฑ์ที่กำหนดใหม่นี้จะทำให้อัตรากำลังครูควรมีของโรงเรียนมัธยมศึกษา ลดลงอย่างมาก โรงเรียนที่มีครูพอดีเกณฑ์กลายเป็นโรงเรียนที่มีครูเกินเกณฑ์ โรงเรียนที่ครูควรมีต่ำจากเกณฑ์ กลายเป็นโรงเรียนที่มีครูพอดีเกณฑ์

ที่สำคัญคือหลักในการคำนวณอัตรากำลังของโรงเรียนประถมศึกษากับโรงเรียนมัธยมศึกษาควรเป็นหลักคิดที่แยกจากกันเพราะสภาพของวิชาที่สอนแตกต่างจากกันเช่นในจำนวนนักเรียนที่เท่ากัน วิชาวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษาในอาจใช้อัตรากำลังครูวิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไปเพียงคนเดียว แต่ในระดับมัธยมศึกษาต้องใช้อัตรากำลังครูทั้งครูวิชาเอกฟิสิกค์ ครูวิชาเอกเคมี ครูวิชาเอกชีววิทยา และครูวิชาเอกวิทย์ทั่วไป หรือวิชาที่เกี่ยวข้องกับการงานอาชีพ ในระดับประถมศึกษาอาจใช้อัตรากำลังครูเพียงคนเดียวแต่ในระดับมัธยมศึกษาต้องใช้อัตรากำลังครูวิชาเอกศิลปศึกษา วิชาเอกอุตสาหกรรม วิชาเอกคหกรรม ฯลฯ หลักในการคิดคำนวณอัตรากำลังที่ใช้ในปี 2545 นั้นเหมาะสมแล้วเพราะคิดคำนวนจาก จำนวนห้องเรียน คูณด้วยจำนวนนักเรียน: ห้องเรียน ( 40 : 1) หารด้วยจำนวนครู :นักเรียน (1 : 20) ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่เป็นไปตามสภาพจริงของการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนมัธยมศึกษาและจะผกผันไปกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง และยังผกผันไปตามสภาพวิชา โดยเฉพาะระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายต้องมีครูหลากหลายสาขาวิชา ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องใช้อัตรากำลังครูมากขึ้นแต่ก็เป็นไปตามหลักสากลและยังเป็นไปตามปรัชญาการจัดการศึกษาที่มุ่งให้นักเรียนได้เรียนในวิชาที่ตนเองถนัดและสนใจ

กระผมขอเรียนว่าเกณฑ์ใหม่นี้เหมาะสมและมีประโยชน์ต่อโรงเรียนระดับประถมศึกษาเป็นอย่างยิ่งเพราะจะทำให้ได้อัตรากำลังครูเพิ่มขึ้นแต่ถ้าการเพิ่มอัตรากำลังครูใช้วิธีการการดึงเอาอัตรากำลังครูในระดับมัธยมศึกษา ไปเป็นอัตรากำลังครูของโรงเรียนประถมศึกษา ก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอนแน่นอน

กระผมขอกราบเรียนเพิ่มเติมว่าต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงในเรื่องอัตรากำลังครูที่ขาดแคลนนั้นเกิดจากการที่กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้คิดว่านักเรียนคือคนสำคัญที่สุดในการจัดการศึกษาจึงได้ตัดโอนเอาอัตรากำลังครูที่ควรให้โรงเรียนไปเป็นอัตรากำลังให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ได้มีหน้าท่ีในการจัดการเรียนการสอน จึงส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพผู้เรียน โดยอาจเปรียบได้ว่าหากกระทรวงสาธารณสุขตัดโอนอัตรากำลังของแพทย์และพยาบาลที่ควรต้องเป็นอัตรากำลังของโรงพยาบาลเพื่อดูแลรักษาคนไข้ ไปเป็นอัตรากำลังประจำอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขหรือ ไปเป็นอัตรากำลังของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ก็คงจะปั่นป่วนวุ่นวายกันทั้งประเทศ คุณภาพชีวิตของประชาชนก็จะตกต่ำเหมือนกับคุณภาพการศึกษาไทยที่ตกต่ำในขณะนี้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาทบทวนการกำหนดเกณฑ์การคำนวณอัตรากกำลังโดยเฉพาะในส่วนของโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นไปตามแนวทางเดิมที่เคยกำหนดไว้เมื่อปี พ.ศ.2545 ก็จะถือว่าเป็นคุณูปการต่อการศึกษาไทยเป็นอย่างยิ่ง อนึ่ง กระผมขอกราบเรียนเพิ่มเติมว่าท่านเลขาธิการ ก.ค.ศ.ก็เป็นผู้หนึ่งที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาอย่างมีคุณภาพเพราะโรงเรียนมีอัตรากำลังครูที่เพียงพอ

ขอแสดงความนับถือ
นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ
รักษาการนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย 

โพสต์เมื่อ 28 ธ.ค. 2563 อ่าน 8856 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2713]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1085]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5645]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2430]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)