ส.บ.ม.ท.ทำจดหมายเปิดผนึกถึง นายกฯ เรื่อง การปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา



เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง การปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ที่ ส.บ.ม.ท. 145 / 2563
20 กรกฎาคม 2563

เรื่อง การปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา

กราบเรียน นายกรัฐมนตรี

ตามที่ท่านได้กรุณาลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ (ฉบับที่ 2) 11 ด้าน โดยให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และท่านได้กรุณาลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จำนวน 11 ท่าน โดยมีนายวรากร สามโกเศศ เป็นประธาน และท่านได้ลงนามเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 นั้น สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ซึ่งก่อตั้งมาเป็นเวลา 49 ปี โดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ริเริ่มดำริให้เกิดองค์กรกลางในการร่วมยกระดับคุณภาพมัธยมศึกษา และ ดร.ก่อ สวัสดิพาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมวิสามัญศึกษา ได้สานต่อเจตนารมณ์ โดยได้จัดตั้งสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทยขึ้นมา มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอความคิดเห็นต่อกระทรวงศึกษาธิการ ในเรื่องการพิจารณาคุณภาพการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยมีคุณหญิงบุญเลื่อน เครือตราชู เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก

สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) พิจารณาจากรายชื่อบุคคลที่ท่านได้กรุณาลงนามแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาแล้วเห็นว่าทุกท่าน ล้วนมีความรู้ความสามารถที่จะนำพาชาติบ้านเมืองให้ไปสู่ความเจริญได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามสมาคมฯ ขอกราบเรียนว่าการศึกษาของประเทศนั้นความสำคัญอยู่ที่รากฐานการศึกษาหรือการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะถ้ารากฐานไม่แข็งแรงแล้วส่วนที่ตามมาย่อมไม่มีความมั่นคงอยู่ต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้นการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาจึงจำเป็นต้องใส่ใจในเรื่องการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งจะต้องมีข้อมูลเดิมที่ถูกต้อง ในเรื่องของปัญหาและโอกาสของการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศที่ผ่านมา ผู้ที่ควรมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาจึงควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการเป็นครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานรวมทั้งผู้ที่เคยเป็นครูในระดับอาชีวศึกษา การปฏิรูปการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2540 ที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ ล้มเหลว การศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศตกต่ำ มีอันดับคุณภาพอยู่ในระดับท้ายของประเทศกลุ่มอาเซียน คืออันดับที่ 8 ในขณะที่ประเทศกัมพูชา อยู่ในอันดับที่ 6 (ข้อมูลจาก World Economic Forum : WEF) ผลผลิต ด้านคุณภาพภายในมีความล้มเหลว นักเรียนยังขาดจิตสำนึกความรับผิดชอบ ขาดวินัย ขาดความเคารพผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์ หมกมุ่นกับแหล่งอบาย เหตุผลเพราะคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาคณะนั้นล้วนแล้วแต่เป็นนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่มีท่านใดเลยที่มีประสบการณ์ในการเป็นครูผู้สอนนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือในระดับอาชีวศึกษา การปฏิรูปใช้แต่แนวคิดทฤษฎีที่ไม่สามารถปรับใช้กับบริบท ของโรงเรียนได้ สมาคมฯ เห็นว่าบุคคลที่สำคัญที่สุดในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาก็คือนักเรียนและครู ดังนั้น ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นคณะทำงานด้านการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้จึงควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ ในพฤติกรรมและจิตวิทยาพัฒนาการของนักเรียน เข้าใจในบริบทของครู โรงเรียน หลักสูตร ฯลฯ เป็นอย่างดี เปรียบกับการรบ ถ้าผู้บัญชาการการรบไม่เคยรู้จักสนามรบ ไม่เคยรู้จักทหารของตนเอง ไม่เคยมีประสบการณ์ในการรบ ย่อมไม่มีทางที่จะนำกองทัพให้ประสบความสำเร็จในการรบได้ หรือหากเปรียบเทียบกับการปฏิรูปการแพทย์หรือการสาธารณสุขของประเทศ โดยกำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการแพทย์ หรือการสาธารณสุขไม่มีบุคลากรที่เป็นแพทย์หรือสาธารณสุขเลยย่อมมองไม่เห็นภาพในการหาแนวทางไปสู่ความสำเร็จ กรณีการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษานั้น สมาคมฯ พิจารณาจากบรรดารายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาแล้วเห็นว่าไม่มีท่านใดเลยที่เคยเป็นครูผู้สอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และในระดับอาชีวศึกษา ดังนั้นสมาคมฯ จึงขอความเมตตาจากท่านขอได้โปรดพิจารณาดังนี้

1. แต่งตั้งบุคคลผู้เคยมีประสบการณ์ด้านการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอาชีวศึกษาเพิ่มเติม ในคณะกรรมการปฏิรูประเทศด้านการศึกษา หรือ

2. แต่งตั้งให้มีคณะอนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานและด้านอาชีวศึกษาโดยให้คณะอนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานและด้านอาชีวศึกษามีสัดส่วนที่มาจากผู้ที่ เคยสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอาชีวศึกษา ให้มากและหลากหลาย

สมาคมฯ ขอเรียนว่าข้อเสนอดังกล่าวนี้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ มีเหตุผล และมีความตั้งใจที่จะให้การศึกษาของชาติมีคุณภาพทัดเทียมกับประเทศต่างๆ บุคคลที่เป็นครูมาแล้วต่างได้รับการศึกษาอบรมด้านการจัดการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนย่อมมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นกำลังให้ท่านได้พัฒนาประเทศ ด้านการศึกษาตามเจตนารมณ์ของท่านสืบต่อไป

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

(นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ)
นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย

 ขอบคุณข้อมูลจาก ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย

โพสต์เมื่อ 22 ก.ค. 2563 อ่าน 5145 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)