สพฐ.เพิ่มอ่าน-คิดวิเคราะห์ให้เด็กไทย



#showpic

จากการประกาศผลการประเมินโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for international Student Assessment หรือ PISA) 2018 ซึ่งพบว่า เด็กไทยมีผลการประเมินความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนความฉลาดรู้ด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องนั้น

นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ผลการประเมินที่ออกมาเป็นภาพรวมของทุกประเทศที่เข้าร่วม ซึ่งสาเหตุอาจเป็นเรื่องแบบทดสอบ วิธีประเมิน ซึ่งปีนี้เน้นเรื่องการอ่าน ดังนั้นข้อสอบที่ใช้จะเน้นการคิดวิเคราะห์ ซึ่งค่อนข้างยากกว่าปกติ ผลที่ออกมาจึงไม่ถือว่าผิดความคาดหมาย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้พยายามส่งเสริมการอ่านมาตลอด แต่ต่อไปจะเน้นการอ่านเพื่อการคิดวิเคราะห์มากขึ้น ทั้งจะเพิ่มเรื่องการเรียนโค้ดดิ้ง สะเต็มศึกษา เรียนรู้ผ่านกิจกรรมหรือโครงงานที่มุ่งแก้ปัญหาที่พบเห็นในชีวิตจริงให้เด็กได้ฝึกทำข้อสอบอัตนัยมากขึ้น ส่งเสริมการเขียนเรียงความ ย่อความ เพื่อให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ ส่วนวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ก็ยังต้องเร่งพัฒนา เนื่องจากการเรียนการสอนของไทยยังมีปัญหาอีกค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำที่ต้องเร่งส่งเสริมให้โรงเรียนทั่วประเทศมีคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียมกัน

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทย เข้าร่วมทดสอบ PISA ตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 หรือเกือบ 20 ปีแล้ว แต่เมื่อดูสถิติคะแนนสอบตั้งแต่ครั้งแรกถึงปัจจุบันจะพบว่ กราฟไม่ขยับขึ้น แถมยังลดลงโดยตลอด สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และการศึกษาของไทยก็ย่ำอยู่กับที่ ตนเห็นตรงกันข้ามกับ รมว.ศธ. เพราะไม่มีอะไรน่าภาคภูมิใจเลยที่คะแนนเรายํ่าอยู่กับที่มาเกือบ 20 ปี และคิดว่าน่าสลดใจมากกว่า เราต้องประเมินกระทรวงศึกษาธิการครั้งใหญ่ว่าได้ทำอะไรอยู่ โดยเฉพาะทักษะการอ่าน ที่ลดลงถึง 16 คะแนน ยิ่งน่าห่วง เพราะการอ่านคือรากฐานสำคัญในการคิด วิเคราะห์ คะแนนการอ่านยิ่งตกต่ำ ยิ่งสะท้อนถึงประสิทธิภาพการศึกษาของประเทศที่ยิ่งอ่อนลง ส่วนคะแนนคณิตศาสตร์ที่แตกต่างระหว่าง ร.ร.มหิดลวิทยานุสรณ์ ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัย ร.ร.สาธิต กับ ร.ร.สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถึง 200 คะแนน ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ดังนั้นหากการศึกษาไม่พัฒนา นิ่งอยู่กับที่ ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้น สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ตนเห็นว่าควรเร่งปรับปรุงหลักสูตรโดยด่วน เน้นการคิดวิเคราะห์ และการลงมือปฏิบัติจริง อย่าตีความคะแนนเข้าข้างตัวเองโดยไม่ดูตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น.


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 5 ธ.ค. 2562

 

 

โพสต์เมื่อ 7 ธ.ค. 2562 อ่าน 7894 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)