สสส. หนุนพัฒนา 18 ทีมเยาวชนนักคิดสู่ “นักนวัตกรรุ่นใหม่” ติดอาวุธเปลี่ยน “ไอเดีย” เป็น “นวัตกรรม” เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ



สสส. หนุนพัฒนา 18 ทีมเยาวชนนักคิดสู่ “นักนวัตกรรุ่นใหม่” ติดอาวุธเปลี่ยน “ไอเดีย” เป็น “นวัตกรรม” เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ
 
จากผลงานกว่า 132 โครงการของเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั้งระดับมัธยมและอาชีวศึกษา ที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดอย่างล้นหลามใน “โครงการประกวดผลงานนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ : THAI HEALTH INNO AWARDS ครั้งที่ 2” จนเหลือเพียง 18 ผลงานที่โดดเด่นและผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าสู่รอบสุดท้าย
 
และเพื่อให้นวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่เหล่าเยาวชนทั้ง 18 ทีม คิดค้นขึ้นมานั้นสามารถตอบโจทย์การเป็นนวัตกรรมที่สามารถสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างได้ผล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้จัดกิจกรรม Workshop “การพัฒนาศักยภาพนวัตกรรุ่นใหม่ด้านนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ” เพื่อติดอาวุธความคิดต่อยอดไอเดียเพิ่มเติมให้เหล่าเยาวชน เพื่อให้ได้รับรู้และเข้าใจงานทางด้านเสริมสร้างสุขภาพอย่างถูกต้อง เพิ่มทักษะการคิดและพัฒนานวัตกรรมของแต่ละทีม โดยมีผู้เชี่ยวชาญและกระบวนการต่างๆ ที่จะช่วยให้ไอเดียดีๆ เหล่านั้นถูกยกระดับและพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่สามารถผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ
 
โดยกิจกรรม Workshop เริ่มด้วยการกล่าวเปิดงานโดย นพ. วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 สสส. ที่มาให้ความรู้และความเข้าใจถึงแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพและอธิบายการทำงานของ สสส. ทางด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ก่อนเข้าสู่กิจกรรมสนุกสนานเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศได้ทำความรู้จักกัน
 
สำหรับจุดเด่นของกิจกรรม Workshop  ในครั้งนี้คือจะมีการแยกกลุ่มระหว่างนักเรียนและครูที่ปรึกษาออกจากกันเพื่อให้ความรู้ในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานที่ที่แตกต่าง โดยกลุ่มนักเรียนนักศึกษาหลังจากได้รับความรู้จากกิจกรรมเรียนรู้แนวคิด กระบวนการเสริมสร้างสุขภาพตามกฏบัตรออตตาวา (Ottawa Charter) จากการบรรยายของ ดร. ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนงานนวัตกรรม สสส. เยาวชนทั้ง 18 ทีมก็จะสนุกสนานกับกิจกรรม “จีบ” ซึ่งเป็นกิจกรรมแฝงความรู้สอนให้เข้าใจกระบวนการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาหลักของการเรียนรู้คือ การคิดเชิงออกแบบ(Design Thinking)
 
เช่นเดียวกับกลุ่มอาจารย์ที่ปรึกษาที่แยกห้องไปอีกห้องหนึ่ง เนื้อหาหลักของการเรียนรู้คือ การคิดเชิงออกแบบเช่นเดียวกัน แต่มีการเพิ่มอาวุธสำคัญสำหรับที่ปรึกษาคือ วิธีให้คำปรึกษาแบบการให้คำปรึกษาและรับฟังด้วยหัวใจ(Coaching and Deep Listening) เพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของโครงการประกวดนวัตกรรมในครั้งนี้คือ การทำให้เด็กที่เข้าร่วมโครงการกลายเป็น “นวัตกรรุ่นใหม่” ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ด้วยตัวเองอย่างแท้จริง ในขณะที่ครูที่ปรึกษาก็จะทำหน้าที่เป็น “โค้ช” ที่ดี ที่สามารถช่วยให้เด็กๆ สามารถสร้างนวัตกรรมที่ดีที่สุด
 
กิจกรรมในวันที่สองเข้มข้นขึ้นด้วยการให้เด็กนำโครงการที่คิดค้นมาวิเคราะห์ด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ โดยมี วิทยากรกระบวนการ(Facilitator) ที่เด็กๆ เรียกกันว่า “พี่ฟา” ลงไปคลุกคลีกับเด็กๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อกระตุ้นให้เด็กๆ คิด วิเคราะห์ แยกแยะนวัตกรรม พร้อมๆ ไปกับการให้คำปรึกษาโดยอาจารย์ที่ปรึกษาที่ได้รับความรู้ในการทำหน้าที่โค้ชที่ดีเพื่อที่จะแนะแนวให้เด็กๆ ปรับแต่งแก้ไขนวัตกรรม กระบวนการ และกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้นวัตกรรมเพื่อสุขภาพนำไปใช้ได้อย่างแท้จริง
 
และเพื่อให้เหล่า “ยุวนวัตกร” ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ สสส. จึงจัดผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จำนวนมากมาทำหน้าที่ ที่ปรึกษา(Mentor) ช่วยให้คำแนะนำ ช่วยวิเคราะห์และเสนอแนวคิดให้แก่ทีมต่างๆ เพิ่มเติมทำให้นวัตกรรมและกระบวนการที่แต่ละทีมคิดค้นขึ้นมีโอกาสเป็นไปได้จริงภายใต้ช่วงเวลาและงบประมาณที่กำหนดโดยได้ผลสูงสุด มีการทดลองนำเสนอผลงานของแต่ละทีมเพื่อฝึกให้เด็กคุ้นเคยกับการนำเสนอพร้อมๆ กับการรับฟังความเห็นเพื่อปรับปรุงข้อจำกัดต่างๆ ของตนเองอีกครั้งก่อนจะนำเสนอแนวคิดที่ตกผลึกจากการร่วมกิจกรรมในวันรุ่งขึ้น
 
ช่วงสุดท้ายของกิจกรรมในวันที่สามเป็นสิ่งที่เหล่านวัตกรน้อยตื่นเต้นและจะได้ประโยชน์มากที่สุดคือ การนำเสนอโครงการที่ปรับปรุงแล้วแก่กรรมการการตัดสินโครงการ ซึ่งทำหน้าที่ที่ปรึกษารอบสุดท้ายอีกครั้ง ซึ่งเมื่อกิจกรรมมาถึงตอนท้าย นวัตกรรมที่นักนวัตกรรุ่นใหม่ทั้ง 18 ทีมคิดขึ้นก็แทบจะตอบโจทย์และมีผลลัพธ์ที่ตรงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการทุกทีม
 
“สิ่งที่ได้คือความรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในงานของเราได้” “น้องกั๊ง” ชลิตา หวานซึ้ง จาก ทีม Boripat Health Care โรงเรียนบริพัตรศึกษา จากอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน บอกถึงสิ่งที่ตนและทีมได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้
 
ความรู้ใหม่ๆ ของชลิตาก็คือกระบวนการคิดเชิงออกแบบหรือ Design Thinking นั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ “ครูฟาง” สมลักษณ์ พัดค้อ อาจารย์ที่ปรึกษา โครงการเครื่องผลิตน้ำหมักจากฝักคูน โรงเรียนมหาไถ่ศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ระบุว่า จากการสังเกต เมื่อนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาใช้ จะทำให้แนวทางการทำงานชัดเจนขึ้นและทำได้เป็นลำดับขึ้นตอนมากขึ้น และเมื่อรู้ถึงแนวทางการให้คำปรึกษาและรับฟังด้วยหัวใจ ก็พบว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก
 
“เดิมเราตีกรอบเกินไป มีแนวทางของตนเองอยู่แล้ว และพยายามให้เด็กไปตามที่เราต้องการ แต่พอเปลี่ยนมาลองใช้วิธีการ Coaching ตั้งคำถามให้เด็กคิดเอง พบว่าเด็กสามารถคิดไอเดียใหม่ๆ และแก้ปัญหาได้ดี” ครูฟาง ระบุ
 
ในส่วนของที่ปรึกษาและคณะกรรมการ ปาพจน์ ตันสุวรรณ ผู้ชำนาญการ (โครงการพิเศษ) ศูนย์ส่งเสริมองค์กรคุณภาพ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าความพอใจการจัดงานครั้งนี้ที่นำทั้งนักเรียนและครูมาให้ความรู้ทางด้าน Design Thinking และแนะนำเทคนิค coaching ให้แก่อาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นการได้ประโยชน์อย่างมากทั้งครูและนักเรียน
 
“ผมคิดว่า สสส. ประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กและนักเรียน และหวังว่าพวกเขาจะนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ ซึ่งนั่นก็น่าพอใจมากแล้ว”
ความคาดหวังของ อ.ปาพจน์ เป็นเช่นเดียวกับกับจุดประสงค์ของสสส. ซึ่งสะท้อนผ่านคำกล่าวปิดการการประชุมของ นพ.ปัญญา ไข่มุก ที่ปรึกษาโครงการฯ ที่ระบุว่า “การอบรมครั้งนี้จะทำให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งครูและนักเรียนกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการสร้างนวัตกรรม สร้างสรรค์แนวคิดในการช่วยเหลือสังคม เผยแพร่กระจายไปในวงกว้างต่อไป”

 

โพสต์เมื่อ 6 พ.ย. 2562 อ่าน 5168 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)