ส.บ.ม.ท.เผยข้อข้องใจร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ



#showpic

ตามที่ รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ให้ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆเกี่ยวกับเรื่องร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ที่สร้างความกังวลของผู้ที่ได้รับข้อมูลบางส่วนที่ผู้เห็นต่างต้องการสร้างกระแส โดย รศ.ดร. เอกชัยฯได้ชี้แจงทางสื่อมีสาระว่า บรรดาผู้ยกร่างมีนักการศึกษา อดีตเลขา สพฐและยังเป็นอดีตปลัด ศธ ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการโดยเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้อยู่ในวงการศึกษาทั้งพื้นฐาน อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา และมีการเชิญผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการมาร่วมประชุมให้ข้อคิด ทีละมาตรา ไม่มีใครครอบงำความคิดของใครได้ ทุกคนแสดงความคิดอย่างอิสระ ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การศึกษาใหม่ ไม่มีแนวคิดในการยกเลิกค่าวิทยฐานะ หรือ ผลประโยชน์อื่นใดที่ผู้บริหารสถานศึกษา การศึกษา หรือครูเคยได้รับ ตรงข้ามกลับคิดจะปกป้องครูไม่ให้ใช้ครูไปทำงานอื่นที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอน หรือแม้แต่การสับเปลี่ยนโยกย้ายครู ก็เปิดโอกาสให้พิจารณาค่าตอบแทนพิเศษได้ด้วย

เรื่องเปลี่ยนชื่อเรียกจากใบประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครูก็ไม่ทำให้ครูเสียสิทธิประโยชน์ที่เคยได้ ส่วน การจะเรียกผู้อำนวยการโรงเรียนแบบเดิม ไม่อยากได้คำว่าครูใหญ่ ถ้าส่วนมากมีความรู้สึกว่า ผู้อำนวยการดูดี มีศักดิ์ศรีมากกว่าคำว่า ครูใหญ่ ก็ไม่น่าเป็นปัญหา เพราะชื่อนั้นเป็นเพียงเปลือก แก่นคือคุณภาพการศึกษาต้องเกิดขึ้นให้ได้ และถ้าคุณภาพการศึกษาไม่ดีควรต้องมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน เรื่อง การแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์ของครูและบุคลากรการศึกษาทุกคนถ้ามีเหตุผล ความจำเป็นและขอให้ทำเพื่อคุณภาพการศึกษา อย่างแท้จริงผมว่าจะมีผู้สนับสนุนท่านแน่นอน นั้น

ส.บ.ม.ท. ขอขอบพระคุณอย่างยิ่งสำหรับคำแนะนำของประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเรื่องที่เกี่ยวกับที่มาของของการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ส.บ.ม.ท.มีข้อข้องใจในบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ ดังนี้

1. วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่ ให้บริการแก่สังคม /ใช้วิธีการแห่งปัญญาในการให้บริการ /ครูได้รับการอบรมให้มีความรู้กว้างขวาง ลึกซึ้ง โดยใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร /มีเสรีภาพในการใช้วิชาชีพตามมาตรฐานของวิชาชีพ /มีจรรยาบรรณ ควบคุม /มีสถาบันวิชาชีพเป็นแหล่งกลางในการสร้างสรรค์ จรรโลงมาตรฐานของวิชาชีพ ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวเป็นคุณลักษณะของวิชาชีพชั้นสูง ดังนั้นวิชาชีพครูจึงเป็นวิชาชีพชั้นสูง นอกจากนี้ มาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติไว้ว่า “ให้กระทรวงส่งเสริมให้มีระบบ กระบวนการผลิต การพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน ที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง” แต่คณะที่จัดทำและร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ คณะนี้ได้ตัดความสำคัญว่า “วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง” ออกจากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จึงเป็นการลดคุณค่าแห่งวิชาชีพครูโดยไม่มีเหตุผลแต่อย่างใด ทำให้คุณครูทั้งประเทศต่างสะเทือนใจในเรื่องนี้มาก

จึงอยากสอบถามบรรดาผู้ร่างว่าทำไมต้องตัดคำว่า “วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง” ออกไป หรือเห็นว่าอาชีพครูไม่คู่ควรที่จะเป็นวิชาชีพชั้นสูงทั้งๆที่บรรดาผู้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ ล้วนเจริญเติบโตมาก็ด้วยการเอาใจใส่ของผู้ประกอบวิชาชีพครูทั้งนั้น การตัดสาระสำคัญเช่นนี้ออกไปจึงส่อให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงของบรรดาผู้ร่างกฎหมายว่ามีมุมมองต่อวิชาชีพครูอย่างไร การกล่าวอ้างว่าคิดที่จะปกป้องครู จึงเป็นกล่าวอ้างที่เป็นไปตามนั้น หรือไม่

2. ส.บ.ม.ท.ขอเรียนว่าบรรดาผู้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติทั้งหลายตามที่ รศ.ดร.เอกชัยฯเอ่ยถึงนั้นเป็นที่ยอมรับได้ว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาทั้งสิ้น แต่องค์ประกอบที่สำคัญที่ขาดไปคือขาดการมีส่วนร่วมของบรรดาคุณครูและผู้บริหารสถานศึกษาซึ่งเป็นผู้ที่คลุกคลีกับนักเรียนมาตลอดชีวิตการทำงาน ซึ่งย่อมรู้จักปัญหาและโอกาสทางการเรียนของนักเรียนเป็นอย่างดีและรู้ข้อเท็จจริงมากกว่าบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆเสียอีก แต่กลับมิได้เป็นผู้มีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าวประกอบกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพครูและผู้บริหารโรงเรียนโดยตรงแต่กลับไม่ได้รับการคัดเลือกให้มีส่วนร่วมในการร่างและพิจารณา การทำเช่นนี้จะทำให้กฎหมายมีความสมบูรณ์ได้อย่างไร การไม่ให้ครูหรือผู้บริหารโรงเรียนมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายนี้จึงเชื่อได้ว่าบรรดาผู้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีเจตนาแอบแฝงที่ไม่ต้องการให้ครูได้รับรู้ถึงสิทธิบางประการของครูที่จะหายไป

3. ตามที่ รศ ดร.เอกชัยฯ ได้กล่าวว่า "การจะเรียกผู้อำนวยการโรงเรียนแบบเดิม ไม่อยากได้คำว่าครูใหญ่ ถ้าส่วนมากมีความรู้สึกว่า ผู้อำนวยการดูดี มีศักดิ์ศรีมากกว่าคำว่า ครูใหญ่ ก็ไม่น่าเป็นปัญหาเพราะชื่อนั้นเป็นเพียงเปลือก แก่นคือคุณภาพการศึกษาต้องเกิดขึ้นให้ได้" นั้น เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวแต่การทำอะไรที่เป็นการบั่นทอนจิตใจผู้ปฏิบัติ ทำให้ขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติลดทอนลงย่อมส่งผลกระทบต่อแก่นคือคุณภาพ อย่างแน่นอน จึงสงสัยว่าบรรดาผู้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ คิดไม่ได้หรืออย่างไรว่ามันกระทบใจผู้ปฏิบัติ หรือมองไม่เห็นผู้ปฏิบัติอยู่ในสายตาเนื่องจากเคยชินกับการใช้อำนาจกระทำการแล้วไม่มีใครกล้าคัดค้าน

4. ตามที่กล่าวอ้างว่าการเปลี่ยนชื่อจาก ผอ. เป็นครูใหญ่ และ การเปลี่ยน "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู "เป็น "ใบรับรองความเป็นครู" ไม่ทำให้ครูเสียสิทธิประโยชน์อะไรนั้น ประเด็นนี้อยากจะขอให้ ได้พิจารณาข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องดังนี้

4.1 อัตราเงินเดือน เงินวิทยะฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ของข้าราชการครู มีบัญชีต่างหากจากข้าราชการพลเรือน โดยยกตัวอย่างเช่น ข้าราชการพลเรือนวิทยะฐานะชำนาญการพิเศษ จะได้เงินประจำตำแหน่งคนละ 5,600 บาท แต่ข้าราชการครูวิทยะฐานะชำนาญการพิเศษจะได้เงินประจำตำแหน่งคนละ 11,200 บาท การให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าจึงเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนเก่งไปเรียนครูมากยิ่งขึ้น

4.2 ข้าราชการครูที่จะได้รับเงินประจำตำแหน่งที่สูงกว่าดังที่กล่าวไว้ข้อ ที่ 4.1 นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มี “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยะฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่บัญญัติไว้ว่า “อัตราเงินเดือน เงินวิทยะฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา ที่มีใบอนุญาตว่าด้วยสภาครูและบุคคลากรทางการศึกษา ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษาและบัญชีอัตราเงินวิทยะฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษาท้ายพระราชบัญญัตินี้”

ดังนั้นเมื่อพิเคราะห์จากถ้อยคำของกฎหมายแล้วจะเห็นได้ว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรา 3 ของกฎหมายดังกล่าวจะต้องมี”ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู “ เท่านั้น การเปลี่ยนเป็น “ใบรับรองความเป็นครู” จึงทำให้ครูไม่ได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.เงินเดือนฯ ดังกล่าว แม้จะมีการอ้างว่ามาตรา 100 วรรค สี่ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว บัญญัติว่า “ บรรดาบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับประกาศ คำสั่ง หรือมติ ค.ร.ม.ใดที่อ้างถึงครูซึ่งมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ให้หมายถึงครูซึ่งได้รับใบรับรองความเป็นครูและครูตามวรรคหนึ่งและวรรคสองด้วย”

จากมาตราดังกล่าวนี้เห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเอกสารใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกับเอกสารใบรับรองความเป็นครู เท่านั้น ไม่ได้มีการระบุถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเหมือนเดิมแม้เปลี่ยนเป็นใบรับรองความเป็นครูก็ตาม ซึ่งแตกต่างจากที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๐๑ ของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษาซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นครูใหญ่และผู้ช่วยครูใหญ่ตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี และมีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยะฐานะและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามอัตราเดียวกับที่ผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษาได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” เห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้มุ่งให้สิทธิเช่นเดิมเฉพาะบรรดาผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษา เท่านั้น มิได้มีเนื้อความใดบัญญัติให้คงสิทธิเดิมแก่บรรดาครูแต่อย่างใด

5. เมื่อคณะกรรมการร่างกฎหมายดำเนินการร่างกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว ได้จัดทำประชาพิจารณ์สี่ภูมิภาค ทั้งนี้เพื่อเป็นการดำเนินการให้ครบกระบวนการของการร่างและเสนอกฎหมายแต่ในการทำประชาพิจารณ์ทุกภูมิภาคนั้นไม่ได้นำร่างกฎหมายฉบับเต็มไปเผยแพร่ในที่ประชุมการทำประชาพิจารณ์ ไม่ได้หยิบยกประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเรื่อง “การเปลี่ยนตำแหน่งผู้อำนวยการเป็นครูใหญ่” และเรื่อง “การเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองความเป็นครู” แจ้งที่ประชุมการทำประชาพิจารณ์เพื่อทราบและพิจารณาแต่อย่างใด มีแต่หยิบยกประเด็นอื่นๆบางประเด็นขึ้นทำประชาพิจารณ์ ประเด็น”บางประเด็น” ที่หยิบยกขึ้นมาทำประชาพิจารณ์นั้นผู้เข้าร่วมประชุมต่างเห็นด้วย แต่ผู้ร่างและผู้มีหน้าที่จัดทำกฎหมายกลับเผยแพร่ต่อสังคมและสื่อต่างๆว่าผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์เห็นด้วยกับร่างกฎหมายทั้งฉบับ การทำเช่นนี้จึงเป็นการ “บิดเบือน” ข้อเท็จจริง ที่มีเจตนารมณ์แอบแฝงในเรื่องการตัดสิทธิประโยชน์ที่สำคัญบางประการของครู

6. เมื่อคุณครูได้ทราบความจริงว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญที่เป็นการตัดสิทธิประโยชน์ที่ครูเคยได้รับโดยชอบธรรม ก็ได้รวมกลุ่มกันคัดค้าน แต่ผู้มีหน้าที่จัดทำกฎหมายกลับไม่รับฟัง แต่ลุกรี้ลุกรนที่จะนำร่างกฎหมายนี้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แม้เสนอไม่ทันก็ยังพยายามที่จะเสนอเป็น “พระราชกำหนด” เพื่อให้รีบมีผลบังคับใช้ ทั้งๆที่สภาพเเละเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะตราเป็นพระราชกำหนด ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงตกไป

จากข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นได้ว่าการที่บรรดาองค์กรครูต่างๆออกมาคัดค้านทัดทานร่างกฎหมายฉบับนี้ มิได้มีเจตนาที่จะสร้างกระเเสแต่อย่างใด แต่พฤติกรรมของผู้มีหน้าที่จัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับดังกล่าวต่างหาก ที่ได้ทำลงไปนั้นถือได้ว่ามีเจตนาแอบแฝงขาดความจริงใจต่อผู้ประกอบวิชาชีพครู จึงขาดความชอบธรรม ขาดความไว้วางใจในการที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ใดๆที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน อีกต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)

 

โพสต์เมื่อ 2 พ.ย. 2562 อ่าน 16301 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 189]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2700]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1078]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5578]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2418]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)