ส.บ.ม.ท.เปิดประเด็นภารกิจเร่งด่วนที่ ศธ.ต้องเร่งดำเนินการ



#showpic

นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าจากการติดตามการทำงานของ รมว.ศธ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) เห็นว่าจุดเด่นที่สำคัญของ รมว.ศธ คือการให้โอกาสองค์กรต่างๆเข้าพบและรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะอย่างใส่ใจ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ขยันลงพื้นที่เพื่อเเสวงหาความจริงด้านการจัดการศึกษา มีแนวคิดในการ ทำงานสไตล์เอกชนที่เน้นเรื่องความรวดเร็ว บรรลุวัตถุประสงค์ ผสมผสานกับความเป็นราชการที่เน้นความถูกต้องตามกฎระเบียบ มีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนา ถือได้ว่าเป็นยุคที่คาดได้ว่าการศึกษาไทยจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างเท่าทันประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตามขณะนี้มีภารกิจสำคัญเร่งด่วนที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องลงมือทำทันที ไม่สามารถรอได้เพราะผลเสียจะตกอยู่กับนักเรียนที่จะต้องได้รับการดูแลและเชื่อว่าข้อมูลเช่นนี้ คงยังไม่มีใครรายงานให้ รมว.ศธ ทราบ ดังนี้

1. การสอบบรรจุผู้อำนวยการโรงเรียนและรองผู้อำนวยการโรงเรียน
โรงเรียนต่างๆเกือบหมื่นโรงเรียนไม่มีผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการเพื่อทำหน้าที่บริหารมานานถึง สองปี ทั้งๆที่มีอัตรากำลังอยู่แล้ว มีงบประมาณเพื่อการจัดการอยู่แล้วแต่ไม่มีการดำเนินการ ทำให้เกิดความเสียหายต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียนอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามเมื่อปีที่แล้วได้มีการเปิดโอกาสให้มีการสอบบรรจุเป็นผู้อำนวยการ ก็เป็นการแก้ปัญหาไปได้บ้าง แต่กลับไม่ดำเนินการให้มีการสอบบรรจุรองผู้อำนวยการ บางโรงเรียน มีนักเรียนมากถึงสี่พันคน ซึ่งควรจะมีรองผู้อำนวยการครบจำนวน 4 คน แต่กลับมีเพียงหนึ่งคน ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการมีทรัพยากรพร้อม ที่เหลือคือการจัดการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า แต่กลับไม่มีผู้ใดใส่ใจที่จะดำเนินการ ผู้ที่มีหน้าท่ีต้องทำกลับเพิกเฉย จึงเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่บ่งบอกให้รู้ว่าการศึกษาไทยไม่มีวันที่จะก้าวไปข้างหน้าได้หากข้าราชการระดับสูงผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ใส่ใจและไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง

2. การเกษียณอายุราชการของบรรดาผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในปีนี้
เรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าจะมีผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษากี่คนที่จะเกษียณอายุราชการแต่กระทรวงศึกษาธิการกลับไม่ดำเนินการเตรียมการสอบบรรจุบุคคลเพื่อให้เข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการ โดยไปออกหลักเกณฑ์ที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งคือ กำหนดให้ผู้ที่จะสมัครเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องเป็นผู้ที่เคยผ่านการพัฒนาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ทั้งๆที่ไม่จำเป็นต้องออกหลักเกณฑ์เช่นนี้และที่สำคัญคือ ก.ค.ศ.หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้สนับสนุนให้มีการจัดการอบรมและพัฒนาฯ ในอดีตที่ผ่านมาก็ใช้หลักเกณฑ์ว่าเมื่อสอบแล้วได้รับการคัดเลือกแล้วจึงให้ไปรับการอบรมและพัฒนา การออกหลักเกณฑ์เช่นนี้เป็นการออกหลักเกณฑ์ที่มีจุดมุ่งหมายที่จะไม่ให้โอกาสรองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาได้มีสิทธิสมัครสอบเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษา ทั้งๆที่ในอดีตที่ผ่านมา บรรดารองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาต่างมีสิทธิสมัครสอบเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาได้และสามารถปฏิบัติหน้าท่ีได้เลยเพราะทำหน้าที่ช่วยงานผู้อำนวยการมาหลายปีมีประสบการณ์ด้านการบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาอย่างยิ่ง

การสกัดกั้นไม่ให้รองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาเช่นนี้ทำให้เปิดช่องทางให้ผู้อำนวยการโรงเรียนสังกัดอื่นได้ย้ายเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรีนนมัธยมศึกษาซึ่งเป็นการดำเนินการที่ขัดกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่ให้มีการแยกเขตพื้นที่การศึกษาออกเป็นเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาและเขตพื้นท่ีการศึกษาประถมศึกษา โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายบัญญัติไว้ว่า “โดยที่กฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ มีบทบัญญัติให้การบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วยการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา รวมอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ทำให้การบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมีปัญหาในทางปฏิบัติเกิดความไม่คล่องตัวส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา และเกิดปัญหาอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติ สมควรแยกเขตพื้นที่การศึกษาออกเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เพื่อให้การบริหารและการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการพัฒนาการศึกษาแก่นักเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้สัมฤทธิผลและมีคุณภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

การไม่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมายแล้วยังเป็นการ ทำให้เกิดช่องทางในการทุจริตกล่าวคือการเข้าสู่ตำแหน่งโดยการสอบคัดเลือกนั้นผู้มีอำนาจไม่สามารถใช้ดุลพินิจว่าจะคัดเลือกใคร การดำเนินการต้องเป็นไปตามผลสอบและคะแนนประเมิน แต่การเปิดโอกาสให้มีการคัดเลือกผู้อำนวยการจากโรงเรียนต่างสังกัดไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษานั้น เป็นการให้อำนาจดุลพินิจที่จะคัดเลือกใครก็ได้ ไม่ได้มาจากการสอบแข่งขัน จึงเป็นช่องทางในการเรียกรับผลประโยชน์อย่างมากมายมหาศาลถึงขั้นมีการกล่าวอ้างกันว่ามีการส่งต่อผลประโยชน์ถึงผู้บริหารระดับสูงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกีดกันไม่ให้รองผู้อำนวยการได้สอบบรรจุเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการ การปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะทำให้เกิดการฟ้องร้องไม่มีที่สิ้นสุดเพราะมีการละเว้นการดำเนินการให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

3. การตัดอัตรากำลังครูหรือผู้บริหารโรงเรียนสำหรับโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คนโดยจะให้มีการยุบหรือควบรวมโรงเรียน
กรณีนี้เห็นว่าการยุบหรือการควบรวมโรงเรียนนั้นเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่จะต้องขบคิดกันต่อไปว่าจะทำอย่างไรที่เกิดความลงตัวในทุกๆฝ่าย แต่สิ่งที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือผลประโยชน์ของนักเรียน ปัจจุบันสิ่งที่รัฐดำเนินการไปแล้วคือในระหว่างพิจารณาว่าจะควบรวมโรงเรียนหรือไม่นั้น รัฐได้ตัดอัตรากำลังครูและนักเรียนสำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ส่งผลให้นักเรียนไม่มีครูสอน ไม่มีผู้บริหารโรงเรียนที่จะทำหน้าท่ีในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ส่งผลกระทบต่อนักเรียนเป็นอย่างยิ่ง การตัดอัตรากำลังเช่นนี้เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อมาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่บัญญัติไว้ว่ารัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

4. สิ่งที่ รมว.ศธ จะสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยงบประมาณใดๆและจะส่งผลดีอย่างยิ่งต่อโรงเรียนและการศึกษาของชาติบ้านเมือง คือการประกาศให้ยกเลิกโครงการต่างๆทุกโครงการเช่นโครงการโรงเรียนสีขาว โครงการโรงเรียนสุจริต โครงการโรงเรียนดีใกล้บ้านฯลฯ เพราะจะได้คืนชั่วโมงสอนให้กับคุณครู การยกเลิกโครงการต่างๆเหล่านี้ยังจะส่งผลต่อการปรับลดงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย

นายรัชชัยย์ฯ ยังเปิดเผยอีกว่าในระหว่างนี้ รมว.ศธ กำลังพิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับ 10 และ ระดับ 11 จึงขอให้พิจารณาเพิ่มตัวชี้วัดไปด้วยว่าข้าราชการหรือหัวหน้าส่วนราชการรายใดที่มีหน้าท่ีในการบริหารทรัพยากรบุคคล แต่ปล่อยปละละเลยจนทำให้โรงเรียนว่างเว้นจากผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการร่วมหมื่นอัตราเป็นเวลาถึงสองปี รวมถึงการไม่ดำเนินการให้มีการสอบบรรจุผู้อำนวยการหรือรองผู้อำนวยการ ทดแทนอัตรากำลังที่เกษียณอายุราชการในปีนี้ ก็ไม่สมควรให้ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง เพราะถือได้ว่าเป็นผู้ที่ไม่ใส่ใจต่อการศึกษาของชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)

 

โพสต์เมื่อ 27 ก.ย. 2562 อ่าน 12352 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)