สพฐ.ย้ำดูแลเด็กทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม



#showpic

สพฐ.ยืนยันดูแลเด็กทุกกลุ่มได้รับโอกาสการศึกษาอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ตอบโจทย์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

วันนี้(19 ส.ค.) ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีภารกิจสำคัญในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับเด็ก 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเด็กปกติทั่วไป และ กลุ่มเด็กพิเศษ โดยกรณีกลุ่มเด็กพิเศษ จะแบ่งเป็น เด็กที่มีความสามารถพิเศษ กับ กลุ่มที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานภายใต้นโยบายและแผนการศึกษาของชาติ รวมถึงนโยบายรัฐบาลทุกรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการศึกษากับทุกกลุ่ม ทุกคน ซึ่ง สพฐ.ก็มุ่งเน้นการพัฒนาให้เด็กทุกคนมีคุณลักษณะและสมรรถนะที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียมกัน โดยให้ความสำคัญกับสร้างโรงเรียนคุณภาพให้กระจายอยู่ทุกตำบล ซึ่งก็คือ โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ขณะเดียวกันก็มุ่งที่จะปรับปรุงพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ให้มีคุณภาพ โดยพื้นที่ใดที่มีโรงเรียนขนาดเล็กที่จำเป็นต้องมีอยู่เดียว ๆ ก็ต้องให้อยู่ได้อย่างมีคุณภาพ หรือ ถ้าหาก โรงเรียนขนาดเล็กอยู่ใกล้กับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล สามารถเดินทางได้สะดวกก็จะใช้ความร่วมมือกันจัดการศึกษา โดยใช้โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลเป็นฐานในการเรียนรู้ ซึ่งสามารถครอบคลุมทุกพื้นที่ได้

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลุ่มเด็กพิเศษนั้น สพฐ.ก็แนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนเด็กในหลายลักษณะ ทั้งเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ก็มี โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย หรือ โรงเรียนที่จัดลักษณะเฉพาะ หรือ เป็นห้องเรียนสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษกระจายในทุกภูมิภาค ซึ่งไม่เฉพาะด้านวิชาการเท่านั้นยังมีโรงเรียนที่ส่งเสริมทางด้านกีฬา ดนตรี โดยเปิดเป็นห้องเรียนกีฬา ห้องเรียนดนตรี เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนของเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษนั้น สพฐ.ก็มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ คือ สำนักงานบริหารงานการศึกษาพิเศษ(สศศ.) โดยกลุ่มเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษนี้ จะแบ่งเป็น กลุ่มเด็กพิการ และ กลุ่มเด็กด้อยโอกาส ซึ่งกรณีกลุ่มเด็กพิการก็จะมีโรงเรียนเฉพาะความพิการหรือศูนย์การศึกษาพิเศษดูแลอยู่ ขณะที่ กลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่มีสภาวะความยากจน หรือ พ่อแม่หย่าร้าง หรือ มีความเสี่ยงความยากจน ซึ่งต้องการดูแลเป็นพิเศษ ก็มีโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ หรือ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ดูแลอยู่

“โดยรวมแล้ว สพฐ. และ กระทรวงศึกษาธิการ ยึดหลักว่า เด็กที่คนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยต้องได้รับโอกาสทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติ หรือ เด็กพิเศษ ซึ่งเลขาธิการ กพฐ. มีนโยบายชัดเจนว่าจะต้องไม่ให้เด็กหลุดออกไปอยู่นอกระบบ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนอย่างไร สพฐ.จะมีหน่วยงานเข้าไปดูแล และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ หรือภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในการเข้าไปดูแลเด็กด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง และเพื่อที่จะตอบคำถามว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและให้ทุกคนได้รับโอกาสและได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพที่เท่าเทียมกัน”รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2562

 

โพสต์เมื่อ 20 ส.ค. 2562 อ่าน 4174 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 190]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2705]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1079]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5601]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2424]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)