คกก.อิสระฯแจงเหตุใดเปลี่ยนนิยาม"ผอ.รร."เป็น"ครูใหญ่ "เพราะรร.ไม่ควรได้แค่ซีอีโอบริษัท แต่ต้องได้"หัวหน้าครู"



#showpic

12มี.ค.62-"หมอจรัส"ระบุพ.ร.บ.การศึกษาชาติ กำหนดนิยาม"ครูใหญ่" เพื่อให้"ผอ.รร."ไม่เป็นเหมือนผู้บริหารบริษัท แต่ต้องมีความเป็นครูในตัวเองด้วย ตลอดจนใส่ใจในเนื้อหาวิชาการด้วย "หมอจิรุตม์ "เผยความในใจคณะกรรมการอิสระฯ มองผู้บริหารโรงเรียนต้องมีส่วนผลักดันปฎิรูปการศึกษา จึงต้องมีจิตวิญญาณ ความเป็น"หัวหน้าครู" ไม่ใช่แค่บทบาทบริหารองค์กรอย่างเดียว

นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีพิจารณาข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... ในประเด็นนิยามคำว่า ครูใหญ่ แทนคำว่า ผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่า การกำหนดนิยามดังกล่าวนั้น เป็นความตั้งใจทำให้ครูดีขึ้น โดยเน้นเรื่องความเป็นครู และให้ผู้บริหารสถานศึกษามีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไม่ใช่เป็นเพียงผู้บริหารสถานศึกษาเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้ดูแลในเรื่องวิชาการและเรื่องอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะขณะนี้ผู้บริหารสถานศึกษาเหมือนกับผู้บริหารอื่น ๆ ที่เป็นแบบธุรกิจ และไม่ได้ดูรายละเอียดในเรื่องเนื้อหาวิชาการ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผู้บริหารสถานศึกษาต้องดูแลในเรื่องนี้ เพื่อให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น เป็นการขยายอำนาจของผู้บริหารสถานศึกษา ดังนั้น การกำหนดนิยามดังกล่าวไม่ได้ทำให้ครู ผู้อำนวยการ หรือผู้บริหารสถานศึกษามีฐานะลดลง แต่จะทำให้ครู และผู้บริหารดีขึ้น ส่วนที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาออกมาทักท้วงนั้น คาดว่าน่าจะกังวลเพราะขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียด และอาจจะไม่เข้าใจทั้งหมด อย่างไรก็ตาม รายละเอียดต่างๆ นั้น จะมีการกำหนดในกฎหมายลำดับรองต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะประกาศใช้ในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล


ด้านนพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า การกำหนดนิยาม ครูใหญ่ ใช้แทนคำว่า ผู้บริหารสถานศึกษา นั้น ทางคณะกรรมการอิสระฯ ได้นำวิเคราะห์ข้อกังวลของผู้บริหารสถานศึกษา ได้ข้อสรุป ว่า สิ่งที่สำคัญของการเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องมีการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษามากขึ้น คือ ผู้บริหารสถานศึกษา ต้องมีบทบาทในส่วนของการดูแลครู ให้เป็นครูที่มีคุณภาพ มีจิตวิญญาณของความเป็นครู และมีความเป็นหัวหน้าครู กำหนดนิยามครูใหญ่ เพื่อเป็นหัวหน้าของสถานศึกษา อีกทั้งการใช้คำว่าครูใหญ่ เมื่อวิเคราะห์เจตนารมณ์ เชื่อว่า การใช้คำดังกล่าว เป็นคำศัพท์ทั่วไป และในมาตรา 39 วรรค 3 ได้ระบุไว้ว่า คำว่าครูใหญ่ หรือผู้ช่วยครูใหญ่ ถ้าจะใช้คำอื่น สามารถกระทำได้ ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้บริหารสถานศึกษาจะกำหนด อีกทั้ง ในบทเฉพาะกาลของกฎหมาย ได้มีการกำหนดความคุ้มครองสิทธิของบุคลากรที่เป็นผู้บริหารของสถานศึกษาที่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ อยู่แล้ว รวมทั้งไม่ได้มีการบังคับว่าต้องเปลี่ยนชื่อจากผู้บริหารสถานศึกษามาเป็นครูใหญ่ และไม่ได้แปลว่าเมื่อร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....กฎหมายนี้ผ่านแล้ว คนที่ใช้ป้ายชื่อผู้บริหารสถานศึกษาต้องมาเปลี่ยนเป็นครูใหญ่ ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น เพราะชื่อตำแหน่งดังกล่าว เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยกาลนั้นเฉพาะ

“อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ถือเป็นรัฐธรรมนูญทางการศึกษา เป็นตัวให้หลักการและแนวทางในการจัดการศึกษา ไม่ได้เป็นเรื่องชื่อตำแหน่ง ส่วนชื่อเรียกหรือกลไกจริงๆ ที่จะเกิดขึ้น ถ้าในเรื่องที่กฎหมายระบุไว้ว่าเป็นไปตามกฎหมายลำดับรอง ก็ต้องไปปรับปรุงสาระต่อไป หรือต้องดำรงไว้ชื่อแบบเดิมก็สามารถไปหารือกันในขณะนั้นได้ โดยหลังจากนี้คงต้องเป็นไปตามคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าจะพิจารณาเช่นใด ดังนั้น อยากให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าใจเรื่องนี้ เจตนารมณ์ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการพัฒนาครู”นพ.จิรุตม์ กล่าว

นพ.จิรุตม์ กล่าวต่อว่า ส่วนอีกประเด็นที่มีข้อวิตกกังวล คือ เรื่องใบรับรองความเป็นครูนั้น ตามข้อบัญญัติที่อยู่ในร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.... จะเป็นการให้ความสำคัญกับความเป็นครูตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ไว้ และให้ความสำคัญกับครูมากเป็นพิเศษ เป็นบุคคลที่มีคุณลักษณะเฉพาะ ไม่ใช่เป็นการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพทั่วไป ตามที่กฎหมายกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม เป็นการยกระดับเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นครูมากขึ้น ส่วนความแตกต่างระหว่างการใช้คำว่าครูใหญ่ แทนผู้บริหารสถานศึกษา และการใช้ใบรับรองความเป็นครู แทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะแตกต่างกันอย่างไรนั้น ต้องไปดูในรายละเอียดของกฎหมายลำดับรอง ทั้งนี้ประเด็นเรื่องใบรับรองความเป็นครู แทนใบประกอบวิชาชีพครู นั้น โดยหลักแล้วเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคลากรมากๆ จะทำให้เกิดความกังวล ซึ่งตนต้องการอยากให้เข้าใจธรรมชาติของกฎหมาย รวมถึงสิ่งที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้บรรจุไว้เป็นสาระ ซึ่งมีบทบัญญัติในการคุ้มครองสิทธิ์ ของบุคลากรที่มีใบประกอบวิชาชีพครูอยู่แล้ว ไม่ได้ทำให้สถานะด้อยลง ส่วนการปรับเปลี่ยนในเชิงรายละเอียดหรือกลไกต่างๆ เป็นสิ่งที่ทางวิชาชีพครู ครุสภา หน่วยงานเกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงศึกษาธิการ ต้องไปทำในรายละเอียดในลำดับต่อไป สำหรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งเรื่องของเงินเดือน เงินวิทยฐานะต่างๆ ทางกฎหมายได้มีบทบัญญัติคุ้มครองไว้อยู่แล้ว อยากให้ครูสบายใจ ไม่ต้องกังวล


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2562

 

 

โพสต์เมื่อ 13 มี.ค. 2562 อ่าน 11270 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)