อึ้ง! เด็กไทยเครียดเรื่องเรียน มีปัญหาสุขภาพจิต-ป่วย‘โรคซึมเศร้า’พุ่ง



#showpic

อึ้ง! เด็กไทยเครียดเรื่องเรียน มีปัญหาสุขภาพจิต-ป่วย‘โรคซึมเศร้า’พุ่ง “หมอธี” แนะสถานศึกษาให้ความสำคัญ ประสานราชวิทยาลัยจิตแพทย์-ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ร่วมแก้ไขเยียวยา


7 มี.ค.62 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในฐานะจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์นักเรียน นักศึกษา กระโดดตึกและเสียชีวิต ดังนั้น ควรให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพจิต ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตเป็นความเจ็บป่วยทางจิต ไม่ใช่เรื่องว่าเครียดอย่างเดียว และผู้ที่ป่วยโรคซึมเศร้า เมื่อมีอาการจะไปบอกให้เขาคิดดีๆ คิดบวกคงไม่ได้ผล เนื่องจากเมื่อมีอาการนี้สารเคมีในสมองก็จะหลั่งออกมา เขาก็จะคิดแต่เรื่องลบ จึงจะต้องได้รับการบำบัดรักษาที่ถูกต้อง

รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น และมีความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพจิต ส่วนจำนวนเด็กและเยาวชนที่ป่วยโรคซึมเศร้ามีมากน้อยเพียงใดนั้น ตนไม่มีข้อมูล แต่สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความเครียดในการเรียน ดังนั้นสถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ควรต้องมองใหม่ และให้ความสำคัญในมิติสุขภาพจิต โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เข้ามาร่วมกันสร้างระบบดูแลสุขภาพจิตเด็กในโรงเรียน

“ที่ผ่านมาผมได้พยายามสื่อสารเรื่องนี้ไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ด้วย แต่ไม่สำเร็จง่ายๆ เพราะเวลาคนมองเรื่องนี้ก็มองเป็นเรื่องของความเครียด หรือเรื่องความอ่อนแอ แต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ต้องมองให้ลึกซึ้งในเรื่องของสุขภาพจิต ดังนั้นมหาวิทยาลัยก็ต้องให้ความสนใจเรื่องสุขภาพจิต ครูก็ต้องคอยสังเกต เพราะคนที่คิดจะฆ่าตัวตายทุกคน 3 ใน 4 จะบอกคนใกล้ชิด จะแสดงออกว่าจะทำ หรือทิ้งร่องรอย” รมว.ศธ. กล่าว

รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า ดังนั้นการจับสังเกตคนใกล้ชิดจะต้องกล้าถามว่าเขามีความคิดนี้หรือไม่ ได้คำตอบก็รีบช่วย ขณะเดียวกันก็สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น เด็กไม่ยอมกินข้าว แยกตัวไม่เข้าสังคม กิจกรรมอะไรก็ไม่ทำให้เขามีความสุข ถ้าเป็นแบบนี้ต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์ ก็ต้องคอยดูแล หรือถ้าเขาใช้คำพูด เช่น โลกนี้ไม่น่าอยู่ อยากตาย มีการเตรียมตัว สิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ทางการแพทย์ก็จะมีกระบวนการ ซึ่งพ่อแม่หรือคนทั่วไปอาจจะไม่รู้


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก แนวหน้า วันที่ 7 มีนาคม 2562

 

โพสต์เมื่อ 7 มี.ค. 2562 อ่าน 9955 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2730]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1086]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5681]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2436]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)