ผู้ค้ำฯหนีไม่พ้นต้องรับผิดชอบผู้กู้เบี้ยวหนี้



#showpic

กยศ.แจงถ้าผู้กู้เบี้ยวหนี้ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบ เป็นภาระผูกพันตามกฎหมาย

วันนี้(27 ก.พ.) นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีผู้ค้ำประกัน ได้โพสต์ร้องเรียนทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ถูกยึดบ้านหลังจากเคยไปค้ำประกันเงินกู้ยืม กยศ. ให้กับลูกของเพื่อนที่ไม่ยอมชำระหนี้ นั้น กองทุนได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า ผู้ค้ำประกันได้ค้ำประกันผู้กู้ยืมตั้งแต่ปี 2540 ยอดหนี้เงินกู้ 78,610 บาท ซึ่งครบกำหนดชำระหนี้ในปี 2543 แต่ผู้กู้ยืมไม่เคยติดต่อชำระหนี้จนถูกเบี้ยปรับและมีหนี้ค้างชำระ ต่อมา ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในปี 2551 โดยผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันได้มาศาลและตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อผ่อนชำระเดือนละ 900 บาท ภายในระยะเวลา 9 ปี และศาลได้พิพากษาให้ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันร่วมกันผ่อนชำระหนี้ดังกล่าว แต่ผู้กู้ยืมก็ไม่ได้ชำระหนี้ตามสัญญา จนกระทั่งในปี 2560 กองทุนจึงได้ดำเนินการสืบทรัพย์บังคับคดีทั้งผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน ปรากฏว่าไม่พบทรัพย์ของผู้กู้ยืม แต่พบทรัพย์ของผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบ้านพร้อมที่ดิน กองทุนจึงจำเป็นต้องยึดทรัพย์ของผู้ค้ำประกัน ซึ่งหลังจากการยึดทรัพย์แล้วผู้ค้ำประกันได้ตกลงทำบันทึกข้อตกลงไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี เพื่อชะลอการขายทอดตลาดและงดการบังคับคดีไว้ชั่วคราว โดยผู้ค้ำประกันขอผ่อนจ่ายเดือนละ 6,335 บาท จำนวน 20 งวด จากยอดหนี้ค้างชำระทั้งสิ้น 126,670.86 บาท ซึ่งในขณะนี้กองทุนได้รับทราบจากผู้ค้ำประกันว่า ผู้กู้ยืมได้ติดต่อมาเพื่อร่วมรับผิดชอบหนี้สินแล้ว โดยจะร่วมกันผ่อนชำระหนี้ให้กับกองทุน หลังจากนั้นผู้กู้จะไปชำระหนี้ในส่วนที่ผู้ค้ำประกันได้ชำระแทนไปก่อน

นายชัยณรงค์กล่าวต่อไปว่า ก่อนที่จะมีการบังคับคดีกองทุนพยายามที่จะติดต่อกับผู้กู้ยืมทั้งทางจดหมายและทางโทรศัพท์ และได้ดำเนินการตามขั้นตอนติดตามหนี้จากผู้กู้ยืมมาโดยตลอด แต่เนื่องจากหมายเลขโทรศัพท์ของผู้กู้ยืมไม่สามารถติดต่อได้ อีกทั้งสืบทรัพย์ผู้กู้ยืมไม่พบและไม่มีชื่อผู้กู้อยู่ในระบบหักเงินเดือน ทำให้กองทุนไม่สามารถหักเงินเดือนได้ และเมื่อมีการตั้งเรื่องบังคับคดีดังกล่าวแล้ว กองทุนได้ส่งจดหมายร่วมกับสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ จัดโครงการไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี ซึ่งได้ส่งจดหมายเชิญผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันเพื่อให้มาไกล่เกลี่ยแต่ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันไม่ได้มาเข้าร่วมโครงการ กองทุนจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยยึดทรัพย์ของผู้ค้ำประกันก่อนที่คดีจะขาดอายุความ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน

“กองทุนขอฝากเรื่องการค้ำประกันการกู้ยืมใดๆ ว่า ขอให้ผู้ค้ำประกันตระหนักว่าจะเป็นภาระผูกพันทางกฎหมาย และขอฝากถึงผู้กู้ยืมให้ชำระหนี้เป็นปกติ เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องจนเดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบิดามารดา และญาติๆ เพราะหากค้างชำระเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดเบี้ยปรับ กองทุนขอให้ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกท่านมีจิตสำนึกความรับผิดชอบในการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป” ผู้จัดการ กยศ.กล่าว


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562

 

โพสต์เมื่อ 28 ก.พ. 2562 อ่าน 5174 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)