แนะทบทวนเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพ



#showpic

เร่งสอนคณิต-วิทย์-อังกฤษ สกศ.ปลื้มงานวิจัยนำไปสู่นโยบายชาติ

จากการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็น (ร่าง) รายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี 2560-2561 จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการ สกศ.กล่าวว่า สกศ.ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำ(ร่าง) รายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี 2560-2561 มีเนื้อหาครอบคลุมเป้าหมายแผนการศึกษาชาติ 5 เป้าหมายได้แก่ การเข้าถึง ความเท่าเทียม คุณภาพ ประสิทธิภาพและการตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง โดยปี 2561 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนผ่านการศึกษาจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและแผนการศึกษาแห่งชาติ ข้อค้นพบคือ คนไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับได้มากกว่าร้อยละ 90 แต่ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพระหว่างโรงเรียนในเมืองกับชนบท และผู้ที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ดีจะได้โอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมากกว่าผู้ที่มาจากครอบครัวยากจน ทั้งนี้ ผลที่ได้จากการจัดทำรายงานสภาวะการศึกษาไทย นำไปสู่การจัดทำเป็นนโยบายของภาครัฐ เช่น นโยบายจัดการศึกษาสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก การจัดการศึกษาระดับประถมวัย การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และยังเป็นข้อมูลพื้นฐานที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษานำไปใช้เพื่อการปฏิรูปการศึกษา สำหรับรายงานสภาวะการศึกษาไทยปี 2560-2561 ฉบับสมบูรณ์จะเสร็จในเร็วๆนี้

ด้าน รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย ม.หอการค้าไทย นำเสนอร่างรายงานสภาวะการศึกษาไทยปี 2560-2561 ตอนหนึ่งว่า แผนการศึกษาฯที่กำหนดเป้าหมายเรื่องการตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง โดยส่งเสริมให้คนเรียนอาชีวศึกษามากขึ้น เทียบสัดส่วนกับสายสามัญ เป็น 70 : 30 โดยมองว่า ผู้จบปริญญาตรีว่างงานมากกว่าสายอาชีพ แต่การว่างงานของปริญญาตรีจะลดลงภายใน 3 ปี และจะมีอัตราการว่างงานเท่ากับสายอาชีพ แต่มีอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าสายอาชีพ ดังนั้น ตนจึงไม่เห็นด้วยกับการกำหนดดังกล่าว แต่การอาชีวศึกษาไทยควรมีการปรับปรุงและหากต้องการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพ ก็ควรเร่งเสริมทักษะด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นทักษะจำเป็น สำหรับการปรับตัวในบริบทที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต ขณะที่ตลาดแรงงานก็ต้องเพิ่มค่าตอบแทนผู้จบสายอาชีพด้วย จึงจะมีผู้ปกครองส่งลูกหลานเรียน นอกจากนี้ ฐานข้อมูลของโรงเรียนควรเป็นฐานข้อมูลเพื่อการปฏิบัติงาน เป็นข้อมูลรายบุคคลจากเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก จะช่วยขจัดปัญหานักเรียนผี หรือการเบิกเงินอุดหนุนรายหัวซ้ำซ้อน และหากทำได้ก็ควรดูลึกด้วยว่า เด็กเรียนกับครูคนไหนที่ช่วยพัฒนาเด็กคนนั้นได้ เพราะเด็กที่เรียนกับครูเก่ง เด็กจะเก่งตามไปด้วย จะทำให้เรามุ่งเป้าพัฒนาเด็กที่อ่อนหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลังได้ตรงจุดมากขึ้น.


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 15 ธันวาคม 2561

 

 

โพสต์เมื่อ 17 ธ.ค. 2561 อ่าน 6124 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 185]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2699]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1074]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5546]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2416]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)