สสส. ประกาศผลมอบรางวัล “โครงการนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ “นักนวัตกร” เพื่อสร้างเสริม “สุขภาวะ” คนไทย



#showpic
(วันที่ 27 ก.ค.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีประกาศผลและมอบรางวัล “โครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” ให้กับเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาและระดับอาชีวศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารอบ 19 ทีมสุดท้าย พร้อมจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพฝีมือเยาวชน จะช่วยเปลี่ยนชีวิตคุณให้ดีขึ้นได้อย่างไร” โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ. ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี เพื่อต่อยอดและนำนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นไปใช้สร้างเสริมสุขภาวะของคนไทยอย่างยั่งยืน

พล.อ. ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำพาสังคมไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยเริ่มจากรากฐานที่สำคัญคือการสร้างคนสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

 “โครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ที่ สสส. จัดขึ้นจึงเป็นเหมือนการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อสร้างนักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ให้แก่นักเรียนนักศึกษาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งครูที่ปรึกษาซึ่งได้ร่วมกระบวนการอบรม ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะลูกศิษย์ในอีกหลายรุ่นให้มีแนวคิดเป็นนวัตกร และเข้าใจแนวทางสร้างเสริมสุขภาพที่เริ่มต้นจากตัวเอง ชุมชน และสังคมโดยรอบได้ และสามารถต่อยอดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้เกิดผลต่อสังคมมากยิ่งขึ้น”

“โครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ” จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อบ่มเพาะทักษะความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น ต่อยอดนวัตกรรม ผ่านการวิเคราะห์ การใช้วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชนและสังคม รวมทั้งเพื่อปลูกฝังความคิดด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้คนในชุมชนและสังคมมีสุขภาพที่ดีได้อย่างยั่งยืน โดยได้เปิดรับสมัครและรับข้อเสนอโครงการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2560 และมีการประกาศผลการคัดเลือกรอบที่ 1 และรอบที่ 2 จนมาถึงรอบสุดท้ายจำนวน 19 ทีม จากผลงานทั้งหมด 134 ทีม

สำหรับผลงานที่ได้รับ รางวัลชนะเลิศในระดับมัธยมศึกษา คือ ทีม WS Stable Inno จากโรงเรียนวชิรวิทย์ จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยผลงานโครงงานนวัตกรรม “npk easy” ที่สร้างนวัตกรรมด้านกระบวนการแก้ปัญหาชุมชน ทั้งด้านโภชนาการ อาหารปนเปื้อนสารเคมี ปัญหามลพิษและระบบทางเดินหายใจจากการลักลอบเผาเศษใบไม้ และปัญหารายได้ของคนในชุมชน โดยใช้ทรัพยากรและคนที่มีอยู่ในชุมชนเข้าร่วม โดยเข้าไปส่งเสริมอาชีพเกษตรปลอดสารเคมีและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น จิ้งหรีดแช่แข็ง ปุ๋ยมูลไส้เดือน ผักสลัดปลอดสาร ที่สามารถเพิ่มรายได้และช่วยแก้ไขปัญหาทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี มีความมั่นคง และพัฒนาให้ชุมชนหนองป่าครั่งเกิดความยั่งยืน

โดยผลงานที่ได้ รางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 1 ในระดับมัธยมศึกษา คือ “Smart Punching Bag” ของ “ทีม Smart Kids F T J” จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร รองชนะเลิศลำดับที่ 2 คือ “ผลงานระบบตรวจคัดกรองความดันโลหิตสูง” (Hypertension Screening System) ของ “ทีม Lady Wolves” จาก โรงเรียนศึกษานารี จังหวัดกรุงเทพฯ และ รางวัลชมเชยจำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ผลงาน “หมอมาหา” จาก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ “เครื่องพิฆาตลูกน้ำยุงลาย” จาก โรงเรียนอนุบาลท่าหลวง จังหวัดลพบุรี

ในระดับอาชีวศึกษาผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ “ทีมสี่สหาย-สายช่าง” จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยผลงานโครงงานนวัตกรรม “เสาหลักนำทางจากยางพารา” ที่พัฒนาเสาหลักกิโลเมตรและเสากั้นโค้งที่สร้างขึ้นจากยางพารา ที่สามารถใช้ทดแทนวัสดุเดิมที่สร้างจากเหล็กและปูน เพื่อลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมติดตั้งระบบการเตือนภัยและ GPS ที่สามารถแจ้งเหตุและส่งพิกัดสถานที่เกิดอุบัติเหตุผ่านระบบ LINE มายังศูนย์กู้ภัยเพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความสุญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว ยังตอบโจทย์ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำได้อีกด้วย

โดยรางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 1 ในระดับอาชีวศึกษา คือ “อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการสระผมผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่นั่งเก้าอี้รถเข็น” ของ “ทีมเมืองคนดี” จาก วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และรองชนะเลิศลำดับที่ 2 คือ “กระบวนการเพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์มลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมสุขภาพด้วยนวัตกรรมเครื่องล้างทะลายปาล์มผสมจุลินทรีย์ชีวภาพ” ของ “ทีมลูกพระวิษณุ” จากวิทยาลัยการอาชีพไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และรางวัลชมเชยได้แก่ผลงาน “อุปกรณ์ช่วยสวมถุงเท้าและรองเท้า (sock and shoes Aid) ” จากวิทยาลัยการอาชีพสตึก จังหวัดบุรีรัมย์

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เปิดเผยว่า โครงการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และนักเรียนสายอาชีวศึกษา มีโจทย์หลักคือความต้องการที่จะเปลี่ยนสังคมรอบตัวด้วยแนวคิดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อแก้ปัญหาหรือส่งเสริมสุขภาพของชุมชน หรือในเชิงประเด็นทางสังคมที่สามารถขยายผลในวงกว้างได้

“สสส. ไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่การประกวดเพื่อให้ได้ชิ้นงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ แต่มุ่งหวังที่จะสร้างเมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ให้เกิดขึ้นกับทั้งลูกศิษย์และครู โดยทั้ง 19 ทีมสุดท้ายทั้งลูกศิษย์และครูได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อบ่มเพาะทักษะความรู้ ความสามารถด้านการวิจัย ประดิษฐ์ คิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรมให้สามารถใช้ได้จริง เพื่อสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ที่ใส่ใจด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่ง สสส. ได้วางแผนการทำงานร่วมกับครู อาจารย์ ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ เพื่อบ่มเพาะแนวคิดของการเป็นนักนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการต่อยอดผลงานให้สามารถขยายผลในวงกว้าง เพราะเราเชื่อในศักยภาพของคน และความคิดสร้างสรรค์ที่ริเริ่มสิ่งใหม่ โดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนและสร้างเสริมสุขภาพให้กับทุกคนในสังคมไทย” ผู้จัดการ สสส.กล่าวสรุป.

โพสต์เมื่อ 27 ก.ค. 2561 อ่าน 10606 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 192]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2713]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1084]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5643]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2428]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)