3 มหาวิทยาลัยเป็นตัวแทนไทยชิงเดลต้า คัพ ที่ประเทศจีน



3 มหาวิทยาลัยเป็นตัวแทนไทยชิงเดลต้า คัพ ที่ประเทศจีน

เดลต้า ส่งทีมนิสิตนักศึกษาจากจุฬาฯ ลาดกระบัง และพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมชิงชัยด้านอุตสาหกรรมอัตโนมัติในการแข่งขัน เดลต้า คัพกับตัวแทนเยาวชนจาก 5 ประเทศที่จีน ปลายเดือนนี้

 
กรุงเทพฯ 20 กรกฏาคม 2561 - เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ส่งตัวแทนทีมเยาวชนไทยร่วมชิงชัยความเป็นเลิศด้านอุตสาหกรรมอัตโนมัติ (Industrial Automation) ในการแข่งขันเดลต้า คัพ (Delta Cup) ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 5 โดยในปีนี้มีทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันร่วมกับทีมเยาวชนจากอีก 4 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน อินเดีย เวียดนาม และจีน ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 24 – 26 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ที่เมืองอู๋เจียง ประเทศจีน

นายเซีย เชน เยน ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแข่งขันเดลต้า แอดวานซ์ ออโตเมชัน ดีไซน์ คอนเทสต์ หรือ เดลต้า คัพ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่กำลังศึกษาด้านวิศวกรรมและอุตสาหกรรมมีโอกาสได้ทดลองและพัฒนาโซลูชั่นส์ด้านอุตสาหกรรมอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ได้สนับสนุนการเข้าร่วมแข่งขันของทีมตัวแทนจากประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมโครงการ ฝึกซ้อม และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแข่งขัน ตลอดจนดูแลทีมผู้เข้าแข่งขันและคณาจารย์ที่ร่วมเดินทางไปแข่งขันในฐานะที่ปรึกษาของแต่ละทีม โดยบริษัทตั้งใจพัฒนาและสร้างวิศวกรระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ ด้วยความรู้ด้านอุตสาหกรรมและทักษะด้านวิศวกรรมอัตโนมัติล่าสุดที่มีการใช้งานจริง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตนักศึกษาในการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต

เพิ่มประสิทธิภาพการซ่อมบำรุงด้วย Machine Learning
หนึ่งในปัญหาของการซ่อมบำรุงเครื่องจักรภายในโรงงานอุตสาหกรรม คือการต้องปิดระบบงานเพื่อตรวจสภาพเครื่องจักรและบำรุงรักษาตามอายุการใช้งาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสายการผลิต และหลายครั้งที่เกิดปัญหาเครื่องจักรขัดข้องก่อนเวลา ดังนั้นทีมจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงเตรียมโครงการซอฟต์แวร์วิเคราะห์ความผิดพลาดของระบบงานภายในโรงงานอุตสาหกรรมไปนำเสนอในการแข่งขันครั้งนี้ โดยทางทีมได้ใช้แบบจำลองระบบมอเตอร์และการจ่ายกระแสไฟฟ้าในสายการผลิต

“โครงการของทีมเรามีจุดเด่นที่การนำระบบ Machine Learning และ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้ ทำให้ระบบมีความแม่นยำสูง ช่วยให้ไม่จำเป็นต้องหยุดระบบการผลิตเพื่อทำการบำรุงรักษาตามระยะเวลา ตลอดจนมีระบบแจ้งเตือนก่อนอุปกรณ์จะเกิดปัญหาหรือใกล้เสื่อมสภาพ” นายวุฒินันท์ ชัยศิริวิเรนทร์ ตัวแทนจากทีมสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบังกล่าว

ดูแลคนไข้อย่างทั่วถึงแบบเรียลไทม์ และลดภาระบุคลากรทางการแพทย์
ส่วนทีมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ของไทย และปัญหาบุคลากรทำงานหนัก จึงคิดค้นพัฒนาระบบแสดงผลในโรงพยาบาล เพื่อแสดงผลอุณหภูมิ ความดันโลหิต น้ำเกลือ และอื่นๆ แล้วนำข้อมูลเข้าสู่ระบบเก็บและประมวลผลส่วนกลางที่ทำงานผ่านคลาวด์ คอมพิวติ้ง และหากพบความผิดปกติระบบจะทำการส่งสัญญาณเตือนไปยังบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งการทำงานของระบบนี้จะมีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งกับคนไข้แล้วส่งข้อมูลไปยังระบบส่วนกลาง โดยการทำงานของส่วนนี้เป็นระบบโมดูลาร์ คือสามารถเลือกได้ว่าจะทำการเก็บข้อมูลประเภทใดบ้าง และอีกส่วนคือระบบกลางที่เก็บข้อมูลและทำการส่งข้อมูลไปยังแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน และระบบส่วนกลางของโรงพยาบาล

ทั้งนี้ นายพสิษฐ์ ประคัลภวงศ์ ตัวแทนจากทีม ชี้ว่าประโยชน์ของโครงการนี้ คือการลดภาระงานในการเดินตรวจวัดต่างๆ ของบุคลากรด้านสาธารณสุข ลดภาระงานด้านเอกสาร สามารถติดตามการดูแลรักษาได้แบบเรียลไทม์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการเตรียมงานทางทีมได้เข้าไปศึกษาดูงานในโรงพยาบาล ซึ่งทีมงานเห็นตรงกันว่าการที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีการใช้งานจริงระหว่างการเข้าร่วมโครงการเดลต้า อคาเดมี (Delta Academy) ทำให้สามารถนำมาทดลองประยุกต์ใช้ในมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น

ยกระดับธุรกิจน้ำผลไม้ปั่นด้วยเทคโนโลยี
สุดท้าย นางสาวจิราภา ธีรศรัณย์ ตัวแทนจากทีมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการเดลต้า อคาเดมี ทั้งด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ก็ได้เกิดแรงบันดาลใจในการนำระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้กับร้านขายเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้ปั่น (DIY Fruit Frappe) โดยสร้างเป็นระบบสั่งเครื่องดื่มและบริหารจัดการร้านแบบอัตโนมัติ เนื่องจากสังเกตเห็นว่าเครื่องดื่มประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั้งจากชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่น้ำผลไม้ปั่นในแต่ละร้านไม่มีมาตรฐานด้านรสชาติและปริมาณส่วนผสม แต่อุปกรณ์ต้นแบบที่ทางทีมพัฒนาขึ้นลูกค้าสามารถสร้างสรรค์สูตรน้ำผลไม้ปั่นของตัวเองได้และเก็บเป็นข้อมูลในระบบผ่านระบบการสแกนใบหน้า เพื่อนำไปใช้กับสาขาอื่นได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบวัตถุดิบที่มีในสต็อกได้แบบเรียลไทม์ก่อนสั่งผ่านแอปพลิเคชันได้ด้วย ขณะเดียวกันระบบจะทำการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณความต้องการส่วนผสมของแต่ละสาขา เพื่อการบริหารจัดการสินค้าคงคลังและพยากรณ์ความต้องการล่วงหน้า นับเป็นการต่อยอดความรู้และเทคโนโลยีจากการใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมออกมาสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์

ร่วมส่งแรงใจให้เยาวชนไทย
ทีมตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยจะเดินทางไปพร้อมกับคณาจารย์ที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่จากเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ซึ่งจะออกเดินทางไปประเทศจีนในวันที่ 22 กรกฎาคม นี้ เพื่อเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมก่อนการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ ซึ่งเมื่อผ่านการคัดเลือกรอบแรกก็จะต้องขึ้นนำเสนอบนเวทีและตอบคำถามคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ ซึ่งจะพิจารณาจากความเป็นไปได้ของโครงการ ประโยชน์ของโครงการ การนำเสนอให้น่าสนใจ และตอบคำถามของทีมงาน
###


เกี่ยวกับ บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย)
บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 เป็นหนึ่งในผู้ผลิตชั้นนำของโลกด้านโซลูชั่นการจัดการพลังงานและความร้อน นอกจากนี้ เดลต้าฯ เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในระดับภูมิภาคหลากหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ อาทิ ระบบอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรม ระบบแสดงผลครบวงจร และระบบเครือข่าย ด้วยพันธกิจของบริษัทฯ ที่ว่ามุ่งมั่นสร้างสรรค์ นวัตกรรมการใช้พลังงานสะอาดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่ออนาคตที่ดีกว่า สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นการประหยัดพลังงานทางด้านเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ และด้วยนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนาที่ทันสมัย ธุรกิจหลักของบริษัทฯ แบ่งได้ดังนี้ เพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ ออโตเมชั่น และอินฟราสตรัคเจอร์ บริษัทฯ มีสำนักงานขายมากมายในภูมิภาคหลักทั่วโลก โรงงานผลิตในอินเดีย สโลวาเกีย และไทย ศูนย์วิจัยพัฒนาและออกแบบในไทย อินเดีย เยอรมันและอื่นๆ อีกมากมายในหลายประเทศ

เดลต้า (ประเทศไทย) ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและในภูมิภาคเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรม รางวัลอันทรงเกียรติที่ได้รับ รางวัลนักธุรกิจแห่งอาเซียนด้านสุดยอดนวัตกรรม รางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านผลการดำเนินงานดีเด่นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมจากนายกรัฐมนตรี

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเดลต้าฯ สามารถเยี่ยมชมได้ที่ www.deltathailand.com

โพสต์เมื่อ 22 ก.ค. 2561 อ่าน 6621 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาและเลือกสรรเป็นพนักงานราชการทั่วไป ตำแหน่งครูผู้สอน จำนวน 3 อัตรา [อ่าน 528]
"สหพัฒน์แอดมิชชั่น" ครั้งที่ 27 พร้อมแล้ว "ติวสด" 12 วิชา 6 วันติด 7-12 ตค. นี้ ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ [อ่าน 225]
สพป.สกลนคร เขต 1 ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาพนักงานราชการ ตำแหน่งครูผู้สอน 1 อัตรา 1 วิชาเอก [อ่าน 1188]
หลักสูตรท้องถิ่น กับการปฏิรูปการศึกษาไทย แนวทางกระจายอำนาจให้โรงเรียนได้ออกแบบ และมีส่วนร่วม [อ่าน 243]
สพฐ. จับมือ EduPLOYS ลงนาม MOU หนุนจัดแข่งขัน บอร์ดเกมเพื่อการศึกษา ส่งเสริมกีฬาทางปัญญา [อ่าน 597]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)