เชื่อครูส่วนใหญ่ไม่คิดเบี้ยวหนี้



#showpic

"พินิจศักดิ์"เชื่อครูส่วนใหญ่ไม่ร่วมขบวนการเบี้ยวหนี้ สกสค. แนะสถาบันการเงินตรวจเครดิตบูโรก่อนปล่อยกู้

วันนี้(17 ก.ค.)นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครุและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) กล่าวกรณีที่กลุ่มครูประกาศยุติดชำระหนี้โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.ว่า เท่าที่ทราบ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นการประชุมที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชิญครูมาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องของความเป็นครูและความก้าวหน้าของครู ซึ่งมีครูมาร่วมประมาณ 400 กว่าคน หลังประชุมเสร็จก็เดินทางกลับ ส่วนกลุ่มที่เป็นตัวตั้งตัวตีชวนครูยุติการชำระหนี้เป็นครูนอกราชการทั้งหมด

นายพินิจศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องปัญหาหนี้สินครูนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลได้รับทราบปัญหามาตลอดซึ่งก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกระทรวงการคลังไขปัญหา โดยมีโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูมาเป็นระยะ ตั้งแต่โครงการลดภาระหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา , การปรับโครงสร้างหนี้ , การที่ สกสค.ไม่รับเงินสนับสนุนพิเศษแต่ให้นำไปปรับลดดอกเบี้ยให้แก่ผู้กู้ที่มีวินัยทางการเงินที่ดี เป็นต้น และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พ.ค. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือถึง รมว.ศึกษาธิการ ให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยให้ตั้งคณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไขปัญหาเสนอต่อนายกรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคมนี้

นายพินิจศักดิ์ กล่าว่า ตั้งแต่เปิดโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. 1-7 มีครูเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 9.3 แสนกว่าคน เป็นเงิน กว่า 7.6 แสนล้านบาท และข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 เม.ย.2561 พบว่า เหลือครูที่ยังเป็นหนี้โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.อยู่ 4.8 แสนราย เป็นเงิน 4.1 แสนล้านบาท และเมื่อมีการเปิดโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูหลายโครงการก็มีครูเข้าร่วมมาเป็นระยะ โดยเฉพาะโครงการลดดอกเบี้ยให้ครูที่มีวินัยทางการเงินที่ดี มีครูได้รับประโยชน์มากกว่า 3.7 แสนราย ทำให้ลดดอกเบี้ยได้ถึงปีละ 2.5 พันล้านบาท ทั้งนี้จะมีเพียง 6.5 หมื่นรายที่ไม่ได้รับการลดดอกเบี้ย เพราะมียอดหนี้ค้างชำระ ไม่มาปรับโครงสร้าง หรือ อยู่ระหว่างปรับโครงสร้าง เหลืออีกประมาณ 2 หมื่นกว่ารายที่ยังตามตัวไม่ได้ ซึ่งจะขอให้ธนาคารออมสินพิจารณาว่าจะให้ครูกลุ่มนี้เข้าร่วมโครงการใดได้อีกบ้าง เนื่องจากขณะนี้มีบางโครงการที่ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ

“แสดงให้เห็นว่า ครูส่วนใหญ่ไม่ได้คิดแบบครูกลุ่มดังกล่าว และเชื่อว่าครูที่มีวินัยทางการเงินที่ดีไม่มีความประสงค์เช่นนั้นแน่นอน เพราะครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดี อีกอย่างธนาคารออมสินก็มีลูกหนี้หลายกลุ่มไม่ได้มีเฉพาะครูเท่านั้น อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการอนุมัติเงินกู้อยากให้มีการตรวจสอบเครดิตบูโรก่อนว่าครูมีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่”นายพินิจศักดิ์กล่าว

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ อังคารที่ 17 กรกฎาคม 2561 เวลา 16.43 น.

 

 

โพสต์เมื่อ 17 ก.ค. 2561 อ่าน 9160 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 185]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2699]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1074]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5545]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2416]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)