เปิดประชาพิจารณ์ร่างพรบ.ศึกษาชาติรอบสุดท้าย 5-6ก.ค.



#showpic

บอร์ดอิสระฯ เตรียม Workshop ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 5-6 ก.ค.นี้ เตรียมเสนอ ครม. "จิรุตม์" เผย มีผู้สนใจดาวน์โหลดร่างฯ พ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับใหม่ กว่า 3 พันครั้ง ชี้นำทุกความคิดเห็นพิจารณาทบทวน และเพิ่มบทเฉพาะกาลช่วงการเปลี่ยนผ่านจากระบบปัจจุบันไปสู่ระบบใหม่ โดยปรับโครงสร้าง ปรับ สกศ. ทำน้าที่สนง.นโยบายการศึกษาแห่งชาติ "ชัยพฤกษ์" เผยต้องคลอดแผนปฏิรูปที่เห็นผลในเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นเพียงกระดาษ เล็งสร้างเครื่องมือเพิ่ม

 

นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มี พ.ร.บ.ฉบับใหม่เกิดขึ้น และในวันที่ 5-6 กรกฎาคมนี้ จะมีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็นครั้งสุดท้าย และจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการอิสระฯ เพื่อให้ความเห็นชอบในวันที่ 10 กรกฎาคม ก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

 

ด้านนพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....มีผู้สนใจดาวน์โหลดกว่า 3,000 คน และมีผู้ให้ความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ประมาณ 100 ราย ซึ่งมีในความคิดเห็นต่างๆ จัดกลุ่มแล้วมีประมาณ 50 ประเด็น ดังนั้นคณะกรรมการอิสระฯ จะนำความคิดเห็นทั้งหมดมาพิจารณาเพื่อทบทวนร่างพ.ร.บ. โดยจะใช้ความคิดเห็นส่วนหนึ่งสำหรับการปรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เช่น การแก้ไขข้อความให้มีความขัดเจนมากขึ้น เป็นต้น และส่วนที่เป็นรายละเอียดอื่นๆ จะกำหนดไว้ในกฎหมายรอง เช่น กฎกระทรวง หรือจัดทำแผนปฏิรูปการศึกษาหรือข้อเสนอต่างๆ ที่จะเสนอ ครม.ต่อไป

ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะมีการเพิ่มบทเฉพาะกาลที่จะกำหนดเรื่องที่เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่าน จากระบบปัจจุบันสู่แนวทางที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้จนกว่าจะมีกฎกระทรวงหรือกฎหมายรับรองมารองรับ เช่น บทบาทหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่จะปรับเปลี่ยนไปทำหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งจะมีการกำหนดในบทเฉพาะกาลให้ชัดเจน แต่คงอยู่ในสังกัด ศธ. เพราะมองว่าการนำทุกเรื่องไปไว้กับสำนักงานนายกรัฐมนตรี สุดท้ายในระยะยาวอาจจะมีปัญหาเรื่องการบูรณาการการทำงาน ส่วนองค์กรหลักอื่นจะไม่มีการระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว"ประธานคณะอนุฯ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กล่าว

ด้านนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขทฯ สกศ.) กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายฯ ที่จะเป็นผู้ยกร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่ง คณะกรรมการอิสระฯ ต้องการให้เป็นแผนที่เห็นผลในเชิงปฏิบัติไม่ใช่เป็นเพียงกระดาษเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องมือที่จะสร้างความมั่นใจว่าแผนจะเกิดผล เช่น ให้ความเห็นเรื่องงบประมาณต่อสำนักงบประมาณก่อนเสนอ ครม. และดูแลบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณจำนวนมาก อย่าง อัตรากำลังคนหรือวิทยฐานะ อย่างไรก็ตาม เรื่องทั้งหมดอยู่ระหว่างการออกแบบยังไม่ได้ข้อสรุป


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

 

 

โพสต์เมื่อ 4 ก.ค. 2561 อ่าน 9884 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 192]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2713]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1084]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5637]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2427]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)