แนวทางตั้งกระทรวงใหม่โดยให้การอุดมศึกษาเป็นหลัก คาดจะใช้ชื่อ "กระทรวงอุดมศึกษา นวัตกรรม วิจัย และวิทยาศาสตร์"



#showpic

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ครั้งที่ 12/2561 เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม 2561 ว่าที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการตั้งกระทรวงใหม่โดยให้การอุดมศึกษาเป็นหลักในการดำเนินงาน คาดว่าจะใช้ชื่อ "กระทรวงอุดมศึกษา นวัตกรรม วิจัย และวิทยาศาสตร์" (Ministry of Higher Education, Innovation, Research and Science)

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (28 พ.ค.61) ได้หารือในที่ประชุมเกี่ยวกับการตั้งกระทรวงใหม่ และกระแสข่าวการรวมกระทรวงอุดมศึกษาและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนหน่วยงานด้านการวิจัย ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องกันอย่างชัดเจนแล้วว่าให้การอุดมศึกษาเป็นหลักในการดำเนินงาน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรวมงานทั้งทางด้านอุดมศึกษา การวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ เช่น สังคมศาสตร์ ซึ่งมีงานวิจัยและนวัตกรรมทางสังคม ที่เป็นการบูรณาการการทำงานของทุกฝ่ายที่มีบทบาทสำคัญต่อประเทศอยู่แล้ว แต่ให้มาดำเนินภารกิจที่มีเป้าหมายภายใต้กระทรวงเดียวกัน

ในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้ชื่อ "กระทรวงอุดมศึกษา นวัตกรรม วิจัย และวิทยาศาสตร์" (Ministry of Higher Education, Innovation, Research and Science) ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลที่ประเทศส่วนใหญ่เช่น ประเทศในแถบยุโรป จะขึ้นต้นชื่อกระทรวงว่า “Ministry of Higher Education”

ทั้งนี้ ได้มอบให้ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ และฝ่ายอุดมศึกษา ทำความเข้าใจร่วมกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สถาบันอุดมศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ต่อไปด้วย

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า หลังจากนี้จะได้มีการหารือร่วมกับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รวมทั้งที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รวมไปถึง สกว. และ วช. เพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียดของการตั้งกระทรวงใหม่ ให้แล้วเสร็จภายในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้

จึงขอให้ทุกคนมองภาพใหญ่ร่วมกัน เพราะทุกหน่วยงานที่เข้ามารวมกัน ล้วนมีความสำคัญทุกส่วน ทั้งด้านวิจัย นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ จึงจำเป็นจะต้องวางแนวทางการทำงานให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อตอบยุทธศาสตร์ชาติ และช่วยผลักดันการปฏิรูปการศึกษาและการวิจัยไปพร้อมกัน โดยการขับเคลื่อนการอุดมศึกษาจะเป็นพื้นฐานใหญ่ เริ่มจากการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ การศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน

ในส่วนของการอุดมศึกษา รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาต้องปรับตัวให้สามารถทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ไม่มีใครเก่งที่สุด แต่ทุกฝ่ายจะต้องเดินไปด้วยกัน และรัฐบาลก็ต้องสนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถผลิตงานวิจัยที่ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมหลัก ยุทธศาสตร์ชาติ และสู่มาตรฐานระดับสากล 

"ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับกรอบเวลาการทำงานอีก 8 เดือนที่เหลือว่าจะตั้งกระทรวงใหม่ได้ทันก่อนการเลือกตั้งหรือไม่นั้น เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ เพราะมีการวางกรอบระยะเวลาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยการร่างกฎหมายหลักในการดำเนินงานทั้ง 2 ฉบับ มีความก้าวหน้าไปมาก ทั้งด้านอุดมศึกษา พ.ร.บ.กระทรวงอุดมศึกษา พ.ศ. .... (โดย ศธ.) ซึ่งผ่านความเห็นชอบของภาคอุดมศึกษาและรับฟังประชาพิจารณ์แล้ว และด้านการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. .... (โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี) และเมื่อกฎหมายแล้วเสร็จ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ อีกทั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เตรียมตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างเร่งด่วน เพื่อเตรียมนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป" นพ.อุดม กล่าว

 


Written by ปารัชญ์ ไชยเวช, นวรัตน์ รามสูต
Photo Credit อิทธิพล รุ่งก่อน, กิตติกร แซ่หมู่
Rewriter นวรัตน์, บัลลังก์
Editor บัลลังก์ โรหิตเสถียร

 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 28 พฤษภาคม 2561

 

โพสต์เมื่อ 29 พ.ค. 2561 อ่าน 14664 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2724]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1086]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5673]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2436]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)